|
|
|
หัวข้อ :แรงบันดาลใจ [ No. 380 ] |
|
รายละเอียด :
[ ติดตามชมภาพความสวยงามและเส้นทางของแรงบันดาลใจ เหล่านี้ได้ ใน ?สุริวิภา? วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน 2549 นี้ เวลาดีสี่ทุ่ม ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี]
พี่สกุล อินทกุล OSK101? (น้องชายพี่สกนธ์ อินทกุล OSK99-4=95, และ พี่ชายของ ร.อ.นพ.ศรัณย์ อินทกุล OSK103 ครอบครัวเจ้าของพาณิชยการสุโขทัย เทคโนโลยีและวิทยาลัยนครราชสีมา) เป็นนักออกแบบดอกไม้ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ทั้งในรูปแบบของ Flower Installation , Event Design รวมทั้งมีผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดดอกไม้ อาทิ Tropical Colors : The Art of Living with Tropical Flowers และล่าสุดกับ Color Your Moods ที่แนะนำการจัดดอกไม้อย่างง่ายๆโดยเลือกใช้สีสันมาเสริมสร้างอารมณ์ความรู้สึกตามต้องการ ซึ่งทั้งหมดนี้สั่งสมมาจากความรักต้นไม้ใบหญ้าตั้งแต่วัยเด็ก "... http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=1505
...เรียบหรูทันสมัย นิยามคนไทยรุ่นใหม่
เมื่อปีที่ผ่านมาการเลือกใช้วัสดุพื้นบ้านมาตกแต่งสถานที่พักอาศัยได้รับความนิยมอย่างมาก แต่สำหรับ 'เทรนด์' ในปีนี้ นักตกแต่งอย่าง วงศ์วิภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา และนักจัดดอกไม้ชื่อดัง สกุล อินทกุล OSK101? สองมืออาชีพซึ่งเป็นผู้ประพันธ์หนังสือ โมเดิร์น ไทย ลิฟวิ่ง ได้บอกเล่ากระแสนิยมของคนไทยรุ่นใหม่ผ่านผลงานเขียนของพวกเขาโดยนำเสนอการออกแบบและตกแต่งแบบไทย
จากหนังสือจะเห็นได้ว่ากระแสความนิยมของปีนี้ เต็มไปด้วยความเรียบหรูและความทันสมัย ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายใน หรือการเลือกเฟอร์นิเจอร์ใช้สอยที่มีคุณภาพเยี่ยมและเน้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทางศิลปะ ซึ่งการตกแต่งแนวนี้คือ 'การเข้ามาแทนที่' การตกแต่งแบบร่วมสมัยที่เลือกใช้ข้าวของพื้นบ้านมาเป็นวัสดุสำคัญในการตกแต่งของเมื่อปีที่ผ่านมา
สถานที่แต่ละแห่งซึ่งนำเสนอการตกแต่งในหนังสือ โมเดิร์น ไทย ลิฟวิ่ง มาจากที่พักและสถานที่ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า บ้าน บ้านพักต่างอากาศ ภัตตาคาร บาร์ หรือสถานที่ทำงาน แต่ละที่ได้รับการคัดเลือกและออกแบบอย่างเรียบหรูจากการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการออกแบบจากดีไซเนอร์ชื่อดังในกรุงเทพฯ เช่น อู้ พหลโยธิน ซึ่งนับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการออกแบบได้นำสมัยที่สุดในขณะนี้ รวมทั้งการออกแบบตกแต่งด้วยดอกไม้จากฝีมือ สกุล อินทกุล หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการรวบรวมแนวคิดใหม่ๆ และหลากหลาย ทั้งผลงานของสถาปนิก มัณฑนากร และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ชื่อดังของเมืองไทยโดยผสมผสาน 'กลิ่นอาย' วิถีชีวิตไทยแบบดั้งเดิมกับความทันสมัยให้กลมกลืนเข้าด้วยกัน
สำหรับผู้ประพันธ์ วงศ์วิภา เทพหัสดิน ณ อยุธยา ด้วยผลงานเขียนสองเล่มที่ผ่านมา คือ คอนเทมโพรารี และ ทรอพิคัล คัลเลอร์ส ทำให้เธอเป็นที่ยอมรับในวงการการตกแต่ง สำหรับหนังสือเล่มนี้ เธอเล่าว่าหลังจากได้แนวคิด โมเดิร์น ไทย ลิฟวิ่ง แล้ว จากนั้นก็จะไปสรรหาสถานที่เพื่อถ่ายรูปนำมาลงหนังสือ ซึ่งที่สุดแล้วก็ได้บ้านและสถานที่นำสมัยทั้งหมด 21 แห่ง
"สถานที่ทั้งหมดในหนังสือทำให้เห็นแนวนิยมปีนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า รูปแบบ 'โมเดิร์น' กำลังมาแรง คำนี้ไม่ได้หมายความว่า 'ทันสมัยเปี๊ยบ' แต่คือการเปลี่ยนแปลงจากของเดิมในปีที่ผ่านมา นั่นก็คือการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ถึงจะเป็นวัสดุพื้นบ้านธรรมดาๆ เช่น หวาย ผักตบชวา แต่ฝีมือการจักสานจะมีรูปทรง ดูมีเส้นสาย ขึ้นมาจากแนวคิดของนักออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ แต่ในความนำสมัยมันต้องมีจิตวิญญาณของนักออกแบบและของเจ้าของบ้าน เราจึงจะคัดมาลงหนังสือเล่มนี้จะเป็นเหมือนการบันทึกจิตวิญญาณของสถาปนิกไทย และเผยแพร่ผลงานของดีไซเนอร์ไทยให้เป็นที่รู้จัก" นักออกแบบรุ่นใหญ่ กล่าว
สำหรับคำว่า 'จิตวิญญาณไทย' สกุล นักจัดดอกไม้ และเป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วย ได้ช่วยอธิบายความหมายนี้ว่า
"บ้านที่เราคัดสรรเลือกมาลงในหนังสือเล่มนี้ ถ้าถามว่ามีจิตวิญญาณของความเป็นไทยอยู่ตรงไหน เพราะเดินเข้ามาในบ้านแล้วก็จะเห็นแต่เฟอร์นิเจอร์รูปแบบทันสมัยทั้งนั้น แต่แทนที่ในห้องนั่งเล่นจะเป็นชุดโต๊ะที่มีเก้าอี้หลายๆ ตัว กลับมีแค่ 'ตั่ง' ขนาดใหญ่ตัวเดียวตั้งอยู่กลางห้องรับแขก ซึ่งเจ้าของบ้านบอกว่าตรงนี้ใช้รับแขกที่สนิทกันจริงๆ หรือบางทีถ้าเพื่อนๆ มา บางคนก็นอนบนตั่งตัวนี้ หรือบางคนก็จะเกลือกกันอยู่บนพื้นแบบสบายอารมณ์ นี่คือกลิ่นอายไทยที่ชัดเจน มันคือความเป็นอยู่แบบเอเชียตะวันออก และเป็นรากเหง้าที่เราคุ้นชินกันมานานตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าแล้ว"
นักจัดดอกไม้ยังเพิ่มเติมอีกว่า ถ้าดีไซเนอร์ไทยย้อนกลับไปมองความเป็นมาของตนเอง แล้วหยิบรากฐานทางวัฒนธรรมเหล่านี้มาใช้ในรูปแบบชีวิตสมัยใหม่ ก็เหมือนเป็นอีกสูตรสำเร็จที่ทำให้ผลงานของพวกเขามักจะได้รับความนิยมเสมอ
"คนไทยมีรสนิยม และให้ความสำคัญกับการแต่งบ้านกันมากขึ้น ผิดกับสมัยก่อนเราไม่ค่อยอยากจะจ่ายเงินให้กับมัณฑนากร จะใช้แต่สถาปนิกทำทุกอย่างคนเดียวจบเลย แต่คนยุคนี้เขาจะมองไปที่การออกแบบเป็นหัวใจสำคัญก่อนเลย แล้วไม่ใช่เฉพาะคนมีสตางค์นะ เด็กรุ่นใหม่ก็จะเห็นได้ชัดว่าถ้าเขาจะซื้อของกันสักชิ้นเขาจะมองที่หลักการออกแบบ การเลือกใช้สีสัน การออกแบบรูปทรงเป็นอันดับแรก" วงศ์วิภา กล่าวเสริม
สำหรับภาพสวยๆ ในหนังสือเล่มนี้ ถ่ายโดย มาซาโน คาวานา ช่างภาพชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงในการถ่ายภาพออกแบบและตกแต่งภายใน ซึ่งภาพถ่ายของเขามีความโดดเด่นตรงที่ให้ความรู้สึกถึงความทันสมัย
หนังสือ โมเดิร์น ไทย ลิฟวิ่ง มีจำหน่ายแล้วที่เอเชีย บุ๊คส์ และภาพสวยๆ ในหนังสือเล่มนี้ ก็ยังทำให้เห็นวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ทุกวันนี้ดูจะรักความเรียบง่ายแล้วยังใช้ชีวิตหรูหรามากขึ้นอีกด้วย
นักจัดดอกไม้มืออาชีพ ในแบบฉบับ...'สกุล อินทกุล'
โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 29 พฤศจิกายน 2548 11:42 น.
- หลายคนฝัน...อยากมีร้านดอกไม้สวยๆ เล็กๆ พร้อมกลิ่นกรุ่นไอกาแฟ
- ฝันเป็นจริงขึ้นได้ ถ้ารักที่จะทำ...เริ่มต้นเสียตั้งแต่วันนี้
- 'สกุล อินทกุล' ผู้คร่ำหวอดในวงการมากว่า 10 ปี แนะหนทางสู่การเป็นนักจัดดอกไม้มืออาชีพ
- ที่วันนี้...สามารถต่อยอดสู่อีกหลากอาชีพ ที่มีรากมาจากต้นไม้ ใบหญ้า
'สกุล อินทกุล' เป็นนักจัดดอกไม้ ที่โลดแล่นในวงการอย่างมืออาชีพมานานกว่า 10 ปี
ชื่อเสียงของเขาโด่งดังในแวดวงนักจัดดอกไม้ทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ ด้วยสไตล์การจัดดอกไม้ที่แตกต่าง ซึ่งลักษณะงานจัดดอกไม้ของเขา จะดูเรียบง่าย มีเรื่องของพื้นที่ว่างเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ฉะนั้นการจัดจะใช้ดอกไม้น้อย แต่มีการใช้ไอเดียมาก เพราะต้องจัดพื้นที่ที่ว่างนั้นด้วยเหมือนกัน
"จะปล่อยพื้นที่ว่าง การเน้นจังหวะ เรื่องของคอมโพซิชั่น เรื่องของเส้น ดูเป็นอะไรที่เป็นธีม นิ่งๆ น้อยๆ เส้นสะอาดๆ คลีนๆ คือเส้นใบไม้ชัดสวยงาม คือดอกไม้ ใบไม้ จะโชว์ความเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ ทุกเส้นของดอกไม้ ใบไม้"
ด้วยสไตล์ดังกล่าว จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักจัดดอกไม้มืออาชีพและมือสมัครเล่นทั่วภูมิภาคเอเชีย ยึดการจัดดอกไม้แนวนี้เป็นคัมภีร์ไบเบิลเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสปาหรือโรงแรมต่างๆ
"มองว่ามันเป็นเทรนด์ด้วย จากยุคหนึ่งคนจัดจะใช้ดอกไม้เยอะมากเต็มไปหมด พอมายุคนี้หันมาสู่การจัดแบบเรียบง่าย และที่สำคัญเป็นเรื่องของเงิน งบประมาณพอจัดแบบนี้สวยก็สวย เงินก็ใช้น้อย คนที่ไม่มีทักษะมากก็สามารถจัดเองได้มันก็ลงตัวหลายอย่าง?
หากมองที่เส้นทางสู่อาชีพของ สกุล เรียกได้ว่าเป็นเส้นขนานกับการศึกษาที่จบมาคือ 'วิศวะอิเลคทรอนิคส์' แต่ด้วยสนใจในการจัดดอกไม้ ทำให้เขาใช้เวลาว่างจากงานที่ทำตามที่เรียนมา หาสถานที่เรียนจัดดอกไม้เพื่อเป็นงานอดิเรก
"พอดีช่วงนั้นมีโรงเรียนสอนจัดดอกไม้จากประเทศญี่ปุ่นมาเปิดพอดี ด้วยความที่เราสนใจก็ไปสมัครเรียน ตอนแรกก็คิดว่าเป็นงานอดิเรกเท่านั้น เพราะสนใจจึงเรียนมาเรื่อยๆ ตั้งแต่เบสิกไปจนถึงระดับแอ็ดวานซ์ ก็ตั้งแต่จัดดอกไม้คลาสิก สามเหลี่ยม แอลเชฟ ตัวทีกลับหัว บูเก้ ใบไม้แต่ละใบเอามาประกอบกันเป็นช่อ เรียนทุกอย่าง ระยะเวลาเรียนก็ประมาณ 2 ปีกว่า"
"ระหว่างที่เรียน ก็มีรับจ๊อบจัดตามงานต่างๆบ้าง คนรู้จักก็ชวนไปช่วยบ้าง แรกๆ ก็ลองผิด ลองถูก ค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไข"
ด้วยการหมั่นฝึกฝน เรียนรู้ ฝึกปรือฝีมือ จากนั้นไม่นานจึงมาทำร้านของตนเองขึ้นในชื่อ 'สกุล ฟลาวเวอร์ส' โดยได้ลาออกจากงานประจำมาทำร้านดอกไม้เต็มตัว ควบคู่กับการช่วยธุรกิจของครอบครัวคือโรงเรียนอาชีวะ
"ผมนำสิ่งที่เรียนมามาใช้กับงานได้มาก เพราะการจัดดอกไม้จะมีเรื่องของโครงสร้างเขียนแบบ เพราะถ้าจะให้สวยต้องประกอบกับงานโครงสร้าง พองานโครงสร้างเสร็จของสดถึงจะลงถึงจะออกมาเป็นงาน"
"ที่ใช้ได้มากคือการเขียนแบบ ทุกงานต้องมีสเก็ต มีภาพร่างก่อน เพราะเราต้องสื่อสารกับคนหลายคน ถ้าจัดคนเดียวไม่ต้องมีสเก็ตก็ได้ ถ้าทำงานทำคนหลายฝ่ายต้องทำให้ทุกคนเห็นภาพและเห็นตรงกัน"
"ถ้าดูดอกไม้มันเป็น 3 มิติ เป็นปฎิมากรรมที่มีอยู่ในตัวมันแล้ว เพราะฉะนั้นการจะทรีต จะจัดการกับดอกไม้ให้สวยงาม ต้องมองเขาเป็น 3 มิติ นำเสนอเป็น 3 มิติ ก็คืองานโครงสร้างงานปฎิมากรรม"
นอกจากนี้พื้นฐานการเรียน ยังสอนเขาในการทำงานอย่างมีแบบแผน มีระบบ เพราะการจัดดอกไม้ในงานใหญ่ๆ ซึ่งเป็นงานโอเปอเรชั่น ต้องมีการวางแผนงาน กำลังคน จัดทำเอกสารควบคุมการทำงาน เริ่มจากงานสเก็ต งานโครงสร้าง งานสั่งซื้อ จัดซื้อและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ถ้าถามถึงความรู้ด้านการจัดดอกไม้ในระบบการศึกษาของไทย สกุล ให้ข้อมูลว่า เป็นเพียงการสอนความรู้พื้นฐานเท่านั้น ถ้าจะเพิ่มต้องต้องเรียนตามสถานบันเอกชนที่เปิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศอย่างฮอลแลนด์ เยอรมัน จะมีการเปิดสอนกันระดับปริญญา เรียนทางด้านพฤกษศาสตร์ ประวัติศาสตร์การจัดดอกไม้โลก การบริหารจัดการเกี่ยวกับธุรกิจดอกไม้ ซึ่งครบวงจร ถ้าไทยสามารถพัฒนาการศึกษาในรูปแบบนี้ได้จะเพิ่มคนคุณภาพในวงการการจัดดอกไม้ได้อีกจำนวนมาก
สกุล พูดถึงแรงบันดาลใจในการทำงานแต่ละครั้งว่ามาจาก การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความรู้จากการเดินทางท่องเที่ยว การดูงานยังต่างประเทศ เช่น เทศกาลงานดอกไม้นานาชาติ ทำให้เกิดแนวคิด สามารถคิดงานใหม่ๆ ตลอดเวลาตอบโจทย์ใหม่ๆ ได้
"ตอนนี้ทำงานมาเยอะ ประสบการณ์ก็เยอะ การที่จะเลือกจะคิดมันเร็ว แก้ปัญหาได้รวดเร็ว ฉะนั้นดีไซน์ใหม่ๆ ก็ออกมา ก็พัฒนาไปเรื่อยๆ"
เขามีหลักคิดว่า
"คนทำงานดีไซน์มันหยุดไม่ได้ มีความสุขกับการคิดเพราะเป็นอาชีพ เราสุขกับมันคิดแล้วก็สนุก แล้วมีคนทำตามได้เหมือนเราเซ็ตขึ้นมามีคนทำต่อได้"
สกุล บอกว่า คนที่จะเข้าสู่อาชีพนี้ต้องเป็นคนหูตากว้างด้วยเช่นกัน ต้องศึกษาหาความรู้ไม่หยุดนิ่ง เขาให้แทรคติคว่า การศึกษาหาความรู้ของเขาลงลึกถึงวัฒนธรรมการจัดดอกไม้ของแต่ละประเทศ ศึกษากันตั้งแต่อดีต
เขาให้เหตุผลว่า
"ปัจจุบันเราไม่ได้ทำงานให้เฉพาะวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง ไม่ใช่คนจีนโบราณทำงานให้เฉพาะกลุ่มคนจีนด้วยกัน ไม่ใช่คนไทยซึ่งทำงานเฉพาะร้อยมาลัยให้กับคนไทยด้วยกัน หรือคนบาหลีจัดดอกไม้บูชาเทพเจ้าของบาหลีอย่างเดียว แต่เป็นการทำงานให้กับสังคม
จึงจำเป็นต้องรู้ให้หมดว่าในแต่ละวัฒนธรรมแต่ละอารยะธรรมที่พัฒนาขึ้นบนโลกมีผู้รู้หรือกูรูในอดีตเขาทำอะไรกันไว้บ้าง ว่าคนทำมาลัยในอินเดียเขาทำงานอย่างไร คนทำมาลัยห้อยคอในฮาวายเขาทำอย่างไรพอเรามีความรู้เหล่านี้ จะสามารถนำมากลั่นกรองใส่รสนิยมของเราเข้าไป นำมาตอบโจทย์ของลูกค้าได้อย่างคม"
"ถ้าจะเปิดร้านดอกไม้เพียงอย่างเดียวก็รู้เพียงการจัดดอกไม้เพื่อจะขายก็พอ แต่ในฐานะเป็นดีไซน์เนอร์มากกว่าฟอร์ริสที่รับจัดแจกัน จัดช่อบูเก้ มันจำเป็นจะต้องรู้กว้างและรู้ลึกในอาชีพของตนเอง"
ปัจจุบัน แม้จะมีร้านดอกไม้อยู่แถบทุกหัวถนน และเกิดขึ้นใหม่แทบทุกวัน แต่ยังมีช่องว่างสำหรับผู้ที่กำลังจะก้าวสู่อาชีพนี้ ซึ่ง สกุล แนะว่า อยู่ที่การนำเสนอ ที่สำคัญคุณคือตัวจริงหรือเปล่า ต้องรู้ ต้องรัก มีสิ่งใหม่ๆที่จะเสนอลูกค้า
เพราะความท้าทายของอาชีพนี้ ต้องตื่นอยู่ในโลกของความเป็นจริง ที่ฝันอยากมีร้านดอกไม้สวยๆ ขายกิ๊ฟช็อปเล็กๆ เป็นไปไม่ได้ เพราะต้องมีการบริหาร จัดการภายในร้าน ทั้งแมชเซนเจอร์ พนักงาน วัตถุดิบ จึงจะเป็นนักจัดดอกไม้ที่ดีและบริหารธุรกิจอยู่รอด
"อย่าง สกุล ฟลาวเวอร์ส ของผมตอนนี้อยู่ระหว่างกับปรับเปลี่ยนแพคเกจจิ้งใหม่ ซึ่งการทำร้านดอกไม้ ถึงการแข่งขันสูง แต่ลักษณะงานของเราของมีจุดเด่น ดอกจะอิ่มๆ สวยดูเป็นฝรั่ง แล้วอยู่ที่ความต้องการของลูกค้าด้วย ด้วยพื้นฐานที่เรามีอยู่ก็ใส่รสนิยมของเราลงไป ซึ่งจะต้องตอบโจทย์ลูกค้าได้"
วันนี้ สกุล สามารถต่อยอดอาชีพจากการเป็นนักจัดดอกไม้สู่ดีไซน์เนอร์ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ คอลัมนิสต์ในนิตยสารต่างๆ ซึ่งมีรากเกี่ยวกับดอกไม้ ใบไม้ทั้งสิ้น
"อย่างโคมไฟต้นหลิว หรือเครื่องประดับที่ทำมาจากเมล็ดพืช มีรากฐานความคิดมาจากการคิดรวบยอด คอนเซ็ปต์อยู่ข้างหลังอย่างแข็งแรง เพราะทุกอย่างต้องมารากมีที่ไปที่มา"
เขาสรุปว่า ทุกอย่างต้องเป็นตัวตนจริงๆ ถ้าไม่ใช่ก็อยู่ไม่ได้ ในวงการไหนก็แล้วแต่ ตัวปลอมอยู่ไม่ได้ ถึงอยู่ได้ก็ลำบาก !
************
สู่เส้นทางสายดอกไม้
1. ต้องมีความรู้เรื่องการจัดดอกไม้แบบพื้นฐานทั้งหมด ต้องเรียนจริงจังเป็นเรื่องเป็นราว ต้องมีครู
2. ต้องเป็นคนช่างสังเกตดอกไม้ ใบไม้ เขาอยู่ในธรรมชาติอยู่อย่างไร ดอกไม้ออกดอก ดอกเล็กอยู่ตรงไหน ดอกใหญ่อยู่ตรงไหน หรือถ้ามีเฟิร์นอยู่ในกระถางระย้า ใบจะระย้าอย่างไร ต้องสังเกตนำสิ่งนั้นมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการที่เราจะทำงานออกมาเพราะเป็นงานที่เลียนธรรมชาติ รู้อย่างลึกซึ้ง
3. จะต้องเป็นคนที่มีความสนใจ มีพื้นฐานทางด้านศิลปะรู้เรื่องเส้นสี องค์ประกอบ เรื่องเกี่ยวกับศิลปะทั้งหมด
4. จะต้องจัดดอกไม้ทุกวัน มือจะต้องอยู่กับดอกไม้ เพราะถ้าจะเป็นนักจัดดอกไม้ มือไม่อยู่กับดอกไม้เลยมันเป็นไปไม่ได้ มันต้องทำ
ถ้ามีคุณสมบัติครบ 4 ข้อเป็นมืออาชีพได้เลย ?สกุล? ย้ำว่าที่สำคัญต้องมีรสนิยมที่ดีเรื่องศิลปะ เป็นคนที่ละเอียดลึกซึ้ง เป็นองค์ประกอบด้วย
**************
ดอกไม้...บานในใจ
การจัดดอกไม้ง่ายๆ เป็นความสุขในบ้าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ดอกไม้เยอะ เพราะจริงๆ การนำดอกไม้เข้ามาใกล้ตัว มาตกแต่งบ้าน หรือให้กัน เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่สวยงามที่สุด ที่อาณาจักรพืชมอบให้แก่โลก
เพราะดอกไม้ ใช้ดึงดูดแมลงมาช่วยผสมเกสร ฉะนั้นจะมีทั้งกลิ่น ทั้งสี ใช้ทุกวิถีทางที่จะดึงดูดใครก็แล้วแต่ ทั้งแมลง มนุษย์ มาขยายพันธุ์ได้มากขึ้น ฉะนั้นคือสิ่งสวยงามที่ดีที่สุดอยู่แล้ว
การที่เรามีสิ่งที่สวยงามที่ดีที่สุดอยู่แล้ว และเป็นตัวแทนจากธรรมชาติมาไว้ใกล้ๆตัว เพียงมีแจกันง่ายๆ เล็กๆ ดอกไม้ดอกเดียวก็สวยแล้ว ฉะนั้นการจัดไม่ต้องเป็นอะไรที่ซับซ้อนง่ายๆ ก็ได้
เป็นเหมือนการเตือนตัวเองว่าเราก็มาจากธรรมชาติเหมือนกันว่า คนจะสัมผัสได้ง่ายกับดอกไม้ ต้นไม้ มันจะมีความรู้สึกถึงเลยที่เตือนว่าเราเองก็มาจากธรรมชาติ
อ่านเพิ่มเติม:
http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9480000164605
http://www.komchadluek.net/news/2005/07-06/soc-17920464.html
ป.ล. พี่อ๋อง สกุล อินทกุล ยังเคยไปร่วมแสดงในละครเวทีร่วมสมัยจากนิยายเก่าของจีน เรื่อง "ม่านประเพณี" (THE BUTTERFLY LOVER) บอกเล่าเรื่องราวความรักของ "จู้อิงไถ" กับ "เหลียงซานป๋อ" ที่ต้องตกอยู่ภายใต้กรอบของจารีตประเพณีทางสังคม การเมือง คติความเชื่อ และปรัชญาตะวันออก
กำกับการแสดงโดย "อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ" (รางวัลสดใสอวอร์ด ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2538) เมื่อ14 - 16 ตุลาคม 2548 รวม 5 รอบ (เสาร์อาทิตย์ วันละ 2 รอบ) ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
[ http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9480000119154 ]
_________________
If a fool would persist in his folly, he would become wise.
- WILLIAM BLAKE, English artist and poet (1757 - 1827)
By : chang
( IP : 58.8.116.xxx )
(Read 534 | Answer 1 2006-11-05 20:45:04 )
|
|
|
|
|
|
|
|
|