|
|
|
หัวข้อ :ครูสวนกุหลาบฯที่เด่นมากในยุคเริ่มแรก [ No. 391 ] |
|
รายละเอียด :
ครูสวนกุหลาบฯที่เด่นมากในยุคเริ่มแรกได้แก่ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาไทยที่พระตำหนักสวนกุหลาบฯ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในวิชาภาษาไทยมากอย่างไม่มีใครเทียบ ถึงกับได้รับยกย่องว่าเป็นเสมือนศาลฎีกาในเรื่องวิชาภาษาไทย หนังสือประเภทตำราเรียนที่เขียนไว้หลายเล่มล้วนเป็นหนังสือที่เหมาะสมสำหรับค้นคว้าศึกษาสังเกตความเปลี่ยนแปลงของตัวอักษรไทย และประวัติคำไทย
พระยาศรีสุนทรโวหาร นักปราชญ์คู่พระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทราโดยกำเนิด ท่านเกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2365 ณ บ้านริมคลองโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ตรงกับวันแรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปี มะเมีย บิดาชื่อนายทองดี มารดาชื่อนางบัง เป็นบุตรคนที่ 6 เมื่ออายุได้ประมาณ 6-7 ปี เรียนหนังสือไทยกับหลวงบรรเทาทุกข์ราษฎร์ กรมการเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพี่ชายใหญ่ของท่าน ในขณะที่หลวงบรรเทาทุกข์ราษฎรอุปสมบทเป็นภิกษุอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร เมื่ออายุ 13 ปี ท่านได้เข้าไปศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร อยู่กับสามเณรน้าชาย ชื่อทัด ณ วัดสระเกศวรวิหาร อายุ 14 ปี บรรพชาเป็นสามเณรเรียนหนังสือไทยกับพระกรรมวาจาจารย์ (จัน) เรียนหนังสือขอมกับพระครุวิหารกิจจานุการ (กรรมวาจาจีน) ศึกษาพระธรรมวินัยจากสำนักต่าง ๆ เช่น เรียนคัมภีร์สารสงเคราะห์ สำนักสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)เรียนคัมภีร์มงคลทีปนี้ในสำนักพระอุปทยาจารย์ (ศุข) เรียนคัมภีร์มูลกัจจายนในสำนักสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สน) เรียนคัมภีร์กังขาวิตะระณี ในสำนักอาจารย์เกิด เรียนคัมภีร์มหาวงศ์ในสำนักพระครูด้วง เรียนคัมภีร์อื่น ๆ ในสำนักพระครูปาน พระใบฎีกาแก้ว พระอาจารย์คง อาจารย์ที่เป็นคฤหัสถ์ด้วย ท่านได้บวชเป็นสามเณร 8 ปี เมื่ออายุ 21 ปี ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศวรวิหาร ท่านแตกฉานทั้ง ภาษาไทย ภาษาขอม ภาษาบาลี สันสกฤต รู้การแต่งคำประพันธ์ฉันทลักษณ์เป็นอย่างดี เมื่ออายุ 24 ปี ได้เข้าแปลปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ณ วัดราษฎร์บูรณะได้เป็นเปรียญ 5 ประโยค
ด้วยระยะเวลานั้น วัดสระเกศวรวิหารขาดพระมหาเปรียญเป็นเวลานับสิบปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสยินดี ทรงเฉลิมพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหม่ รื้อกุฏิเก่าฝาไม้ไผ่ออกสร้างกุฏิตึกเป็นเสนาสนะงดงาม ตลอดทั้งก่อสร้างสถาปนาภูเขาทองด้วยนับเป็นเกียรติยศอย่างสูง ด้วยความอุตสาหะพากเพียรใฝ่รู้ของท่าน จึงได้ขอศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพรรษาที่ 6 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ณ วัดเชตุพนวิมลมังคลาราม สอบได้เปรียญ 7 ประโยค พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระราชาคณะที่ ?พระประสิทธิสุตคุณ? จนถึงปี พ.ศ. 2396 ท่านจึงได้ลาสิกขาบท เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ดำรงค์ (ขณะนั้นเป็นเจ้าหมื่นสรรพเพชรภักดี) ได้นำเข้าถวายตัวรับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็กเวรศักดิ์ รัชกาลที่ 4 ทรงใช้สอยในเรื่องหนังสือไทย หนังสือขอมคล่องแคล่ว สมพระราชหฤทัย รับราชการ 1 ปี ได้เป็นที่ ?ขุนประสิทธิ์อักษรศาสตร์? ผู้ช่วยเจ้ากรมพระยารักษ์ ว่าที่ เจ้ากรมอักษรพิมพการ ครั้นถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น ?ขุนสารประเสริฐ? ปลัดทูลฉลอง กรมพระอาลักษณ์ และเมื่อเจ้านครเชียงใหม่นำช้างเผือกมาถวาย ท่านได้แต่งฉันทกล่อมช้าง
ท่านมีผลงานที่เด่นมากในวงการศึกษา ท่านเป็นผู้แต่งตำราเรียนชุดแรกของไทย ซึ่งในสมัยนั้น เรียกว่า "แบบเรียนหลวง" ใช้สอนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (โรงเรียนหลวงแห่งแรก) มี ๖ เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ (เล่มนี้แต่ง พ.ศ. 2425) ปรากฏว่า เป็นที่ถูกพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ได้เลื่อนยศเป็น ?พระสารประเสริฐ? ปลัดทูลฉลอง กรมพระอาลักษณ์
ในปี พ.ศ. 2415 ท่านได้เป็นครูสอนหนังสือไทย ในกรมมหาดเล็กพ.ศ. 2416 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นอาจารย์สอนพระราชวงศ์ที่ยังพระเยาว์ และบุตรหลานข้าราชการได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ 60 บาท ภายหลังได้คิดแบบเรียนอีกหลายเล่ม เช่น อนันตวิภาคยเขมรากษรมาลา (หนังสือขอม) นิติสารสาธก ปกรนำพจนาตถ์ โคลงฉันท์ หลายเรื่องในปี พ.ศ. 2418เมื่อเจ้ากรมพระอาลักษณ์ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็น ?พระศรีสุนทรโวหาร?
เจ้ากรมอาลักษณ์ ถือศักดินา 3,000 ไร่ ในปี พ.ศ. 2422
เมื่อมีการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามท่านได้มีส่วนในการแต่งโคลงรามเกียรติ์เพื่อจารึกที่ระเบียง
รอบพระอุโบสถ และเป็นแม่กองตรวจโคลงรามเกียรติ์ที่ข้าราชการแต่งทูลเกล้าฯ ถวายความชอบในครั้นนั้นได้เลื่อนเป็น
พระยาศรีสุนทรโวหาร ญานปรีชามาตย์บรมนาคนิตยภักดีพิริยะ พาหะ ถือศักดินา 3,000 ไร่ พระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 4
ชั่ง (สามัญศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา,2540:99-100)
ปี พ.ศ. 2425 ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้เป็นองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และองคมนตรีสภาอีกด้วย (เกษม หน่ายคอน และคณะ, 2540 : 1-4)และให้มีการปฎิรูปการศึกษา โดยตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรก ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2414 โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก (พีระ เทพพิทักษ์ และคณะ,2539:63) ต่อมาพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้เป็นอาจารย์ถวายอักษร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร ในปีพ.ศ. 2432 ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า และได้รับพระราชทานพานหมากคนโททอง กระโถนทอง เป็นเครื่องยศ
ในปี พ.ศ. 2434 ท่านได้ป่วย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมอหลวงรักษา และให้พาหมอเชลยศักดิ์มารักษาด้วย แต่อาการไม่ดีขึ้น ดังนั้นในวันที่16 ตุลาคม 2434 ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมรวมอายุได้ 69 ปี
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นชาวฉะเชิงเทราโดยกำเนิด มีประวัติผลงานยอดเยี่ยม มีความ
อุตสาหะ วิริยะ พากเพียร ใฝ่หาความรู้เป็นตัวอย่างแก่กุลบุตรธิดา อีกทั้งจรรยา มารยาทเป็นที่ถูกอัธยาศัยของผู้พบเห็น รู้จักรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระมหากษัตริย์ถึง 3 พระองค์ คือรัชกาลที่ 3 รัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 มีความรู้เชี่ยวชาญภาษาไทย และภาษาอื่นหาผู้ใดเสมอเหมือนสมควรที่พี่น้องชาวฉะเชิงเทราจะได้ยึดถือเป็นแบบฉบับ และเผยแพร่เกียรติคุณให้เป็นที่ปรากฏสืบไป (เกษม หน่ายคอน และคณะ, 2540 : 101)
ผลงานเล่มอื่นๆของท่านมีอาทิ ไวพจน์ประพันธ์ อนันตวิภาค เขมรากษรมาลา ปกีรณพจนารถ พรรณพฤกษา สัตวาภิธาน และนิติสารสารธกพระยา
หนังสือเรื่อง สัตวาภิธาน ซึ่งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งไว้ในสมัยพระบาทสมเด์จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มุ่งหมายให้เป็นบทหัดอ่านโดยรวบรวมชื่อสัตว์ต่าง ๆ เท่าที่รู้จักกันในสมัยนั้นเป็นเนื้อหาของเรื่อง บทที่นำมาให้เรียนนี้ว่าด้วยสัตว์พหุบาทหรือสัตว์ที่มีเท้ามากกว่าสี่เท้่า อันเป็นสิ่งที่น่าสนใจชวนให้ใคร่เรียนรู้ ผู้จัดทำจึงให้ชื่อว่า พหุบาทสัตวาภิธาน นักเรียนจะได้รู้จักและศึกษาถึงรูปร่างลักษณะ ตลอดจนนิสัยและชีิวิตสัตว์ประเภทนี้
อนึ่ง จะพบว่ามีคำบางคำเขียนไม่ตรงตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปัจจุบัน เช่น แมงวัน แมงทับ ทั้งนี้เพื่อรักษาแบบแผนของฉันทลักษณ์ไว้ตามต้นฉบับเดิม ซึ่งใช้เป็นแบบเรียนในสมัยนั้น
อีกทั้ง พระยาศรีสุนทรโวหารได้นำกาพย์เรื่อง พระไชยสุริยา มาแทรกไว้ในมูลบทบรรพกิจด้วย " -- " กาพย์พระไชยสุริยา เป็นนิทานสำหรับสอนอ่าน คาดว่าท่านสุนทรภู่แต่งขึ้นเมื่อท่านบวชอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ประมาณ พ.ศ.๒๓๘๓ - ๒๓๘๕ โดยมีบทอ่านเรียงลำดับการสะกดคำตั้งแต่แม่ ก กา ต่อด้วยแม่กน แม่กง แม่กก แม่กด แม่กบ แม่กม จนถึงแม่เกย การประพันธ์ใช้ กาพย์แบบต่าง ๆ ได้แก่ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ เรื่องพระไชยสุริยานี้ นอกจากเป็นประโยชน์ในด้านการ ฝึกอ่านสะกดคำแล้ว ยังให้ประโยชน์ในแง่ศีลธรรมจรรยาแก่เด็กๆ ไปด้วยในตัว
และพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งหนังสือกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าอีกหลายเรื่อง งานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง คือ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็น แม่กลองตรวจโคลงบรรยายประกอบรูปภาพเรื่อง "รามเกียรติ์" รอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 100 ปี และตัวท่านเองก็ได้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งด้วยท่านหนึ่ง
ท่านถึงแก่อสัญญกรรมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2434
เกร็ดเล็กๆน้อยๆ:
ปี 2414 พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เปลี่ยนชื่อเพลงชาติใหม่ว่า "จอมราชจงเจริญ" และได้แต่งเนื้อร้องขึ้นใหม่ แต่ยังใช้ทำนองเพลงก๊อดเซฟเดอะควีน (ปลายรัชกาลที่ 4 ปี 2395 มีทหารอังกฤษเข้ามาเป็นครูฝึกทหารเกณฑ์ในวังหลวง ได้ใช้เพลง "ก๊อดเซฟเดอะควีน" (God save the Queen) เป็นเพลงฝึกทหารแตร การฝึกทหารไทยสมัยนั้นใช้แบบอย่างของอังกฤษหมด ดังนั้น เพลงก๊อดเซฟเดอะควีนจึงกลายเป็นทั้งเพลงทำความเคารพในกองทหาร และเมื่อมีพระมหากษัตริย์เสด็จออก) และช่วงปี 2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์ กองทหารดุริยางค์สิงคโปร์บรรเลงเพลงก๊อดเซฟเดอะควีน ถวายความเคารพ ซึ่งตอนนั้นสิงคโปร์เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอยู่ จึงทรงตระหนักว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีเพลงชาติของตัวเองเสียแล้ว
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงพระนคร โปรดให้ครูดนตรีไทยเข้าเฝ้าฯเพื่อทรงปรึกษาหาเพลงไทยมาใช้แทนเพลงก๊อดเซฟเดอะควีน
คณะครูนักดนตรีที่เข้าเฝ้าประกอบด้วย ครูมรกฎ พระประดิษฐ์ไพเราะ และพระเสนาะดุริยางค์ ลงความเห็นเลือกเพลง ทรงพระสุบิน ใช้เป็นเพลงถวายความเคารพ โดยเรียกว่า เพลงสรรเสริญพระบารมี ได้เรียบเรียงทำนองเสียใหม่ให้เป็นทำนองสากล โดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ ส่วนคำร้องนั้นเป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ระบุคำที่เขียนด้วย ฃ ในหนังสือชื่อ นิติสารสาธก เล่ม 1 ได้แก่ ฃอ, ฃ้อความ, ฃัน, ฃาน, ฃาด, ฃายหน้า, ฃำ, เฃา, เฃ้า, ฃุน, ไฃ, โฃก, ฃอง, เฃียน, ฃยัน และฃลุม
อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ตั้งอยู่ถนนศรีโสธร ตรงข้ามค่ายทหารศรีโสธร พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นชาวแปดริ้ว เป็นนักปราชญ์ภาษาไทยคู่พระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านแต่งแบบเรียนภาษาไทยหลายชุด นับเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับเยาวชนไทยในยุคนั้น
จาก มูลบทบรรพกิจ : พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
๏ ขึ้นกงจงจำสำคัญ................................ทั้งกนปนกัน
รำพรรณ์มิ่งไม้ในดง
๏ ไกรกร่างยางยูงสูงระหง........................ตลิงปลิงปริงประยง
คันทรงส่งกลิ่นฝิ่นฝาง
๏ มะม่วงพลวงพลองช้องนาง...................หล่นเกลื่อนเถื่อนทาง
กินพลางเดินพลางหว่างเนิน
๏ เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน...................เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง
๏ เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง................................เริงร้องซร้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง
๏ กลางไพรไก่ขันบรรเลง.............................ฟังเสียงเพียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง
๏ ยูงทองร้องกระโต้งโฮ่งดัง.........................เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสดาลขานเสียง
๏ กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง..............พระยาลอคลอเคียง
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง
๏ ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋ง.....................เพลินฟังวังเวง
อีเก้งเริงร้องลองเชิง
๏ ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง..........................คางแข็งแรงเริง
ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง
๏ ป่าสูงยูงยางช้างโขลง...........................อึงคะนึงผึงโผง
โยงกันเล่นน้ำคล่ำไป ๚
ไม่พบว่ามีการบังคับคำท้ายวรรค มีแต่คำท้ายบทที่หนังสือตำราฉันทลักษณ์บางเล่มที่ระบุคำสุดท้ายของบทไว้เป็นกฎในการแต่งกาพย์ฉบัง ว่า " คำสุดท้ายของบทห้ามใช้คำตาย หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์และนิยมใช้เสียงวรรณยุกต์สามัญหรือจัตวา "
กลบทกับกาพย์ฉบัง:
เนื่องจากคณะของกาพย์ฉบัง บทหนึ่งมีบาทเดียว แบ่งเป็นสามวรรค วรรคหน้า ๖ คำ วรรคกลาง ๔ คำวรรคหลัง ๖ คำ รวม ๑๖ คำ ดังนั้นจึงมักเรียกว่า กาพย์ฉบัง ๑๖
คมทวน คันธนู (คุณประสาทพร ภูสุศิลป์ธร OSK82) กล่าวไว้ว่ากาพย์ฉบัง มีลีลาและจังหวะเป็น ๒-๒-๒, ๒-๒, ๒-๒-๒ ตลอด ดังนั้นการสอดใส่สัมผัสในจะทำให้ไพเราะ หรือถ้าจะให้เหมาะก็ใช้สัมผัสทั้งสระทั้งอักษรซ้อนกัน หรือผลักดันกลบทบางชนิดมาเล่น
ที่มาบางส่วน:
http://theyoung.net/tamneap_vip/thai/good_poonum_49.htm
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=jomyutmerai&date=01-06-2005&group=1&blog=1
http://www.kapook.com/news/07/7478.html
http://203.146.122.12/giftedth/index.html
http://area.obec.go.th/chachoengsao1/province/prayasri2.htm
http://nu20003.9.forumer.com/a/_post106.html
_________________
If a fool would persist in his folly, he would become wise.
- WILLIAM BLAKE, English artist and poet (1757 - 1827)
By : chang
( IP : 58.8.117.xxx )
(Read 708 | Answer 0 2006-11-20 13:40:36 )
|
|
|
|
|
|
|
|
|