|
|
|
หัวข้อ :ย้อนรอย-ถอยหลัง ๖๘ ปี..สู่บทเพลง [ No. 411 ] |
|
รายละเอียด :
ย้อนรอย-ถอยหลัง ๖๘ ปี..สู่บทเพลงที่..
สุภาพ (บรรพ) บุรุษสวนกุหลาบฯ
ประจงสร้าง..ประดับไว้ในโลกา
เป็นที่ทราบกันดีว่า..นักเรียนสวนกุหลาบนั้น
สร้างสรรค์ผลงานได้เป็นเลิศในเกือบทุกแขนง
ให้ปรากฏแก่สาธารณชนบนผืนแผ่นดินไทย
และสั่งสมเป็นมรดกตกทอดสืบต่อมา
นับแต่เริ่มต้นเป็น โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อ ๑๒๕ ปีที่แล้ว
บันทึกความชิ้นนี้ จึงเป็นการประมวลเรื่องราว ค้นคว้าแสวงหา
หนึ่งในผลงานที่นักเรียนสวนกุหลาบ รุ่นปู่รุ่นพ่อ
ได้สร้างสรรค์ขึ้นมาในรูปบทเพลง ที่เลือนหายไปกับกาลเวลาในช่วงหนึ่ง
แต่อาจจะด้วยความบังเอิญ หรือ สิ่งอัศจรรย์เหนือธรรมชาติที่ไม่ควรลบหลู่
ส่งผลให้การย้อนรอยเส้นทางจากปัจจุบัน
ไปสู่จุดเริ่มต้นของบทเพลงที่ซ่อนอยู่ในซอกหลืบประวัติศาสตร์สวนกุหลาบนั้น
..สามารถบรรลุผลได้ค่อนข้างจะสมบูรณ์ด้วยระยะเวลาไม่นานนัก
ประกอบกับโชคดีที่มี ?อินเตอร์เน็ต?. .เทคโนโลยี ซึ่งทั้งโลกใช้กันอย่างแพร่หลาย
เป็นเครื่องมือสำคัญ ช่วยให้กระบวนการค้นคว้ารุดหน้า-รวดเร็วดังกล่าว
และเรากำลังนำท่านไปสู่เส้นทางการย้อนรอย..นับแต่บรรทัดต่อไปนี้
บรรดาเรา-สวนกุหลาบ ทุกส่วน ล้วนก้าวทันโลกตลอดเวลา
จึงไม่แปลกที่พวกเรามีเว็บไซท์ (website) ไว้ใช้สื่อสารทั้งภายในหมู่ชาวชมพูฟ้า
และเผยแพร่เรื่องราวต่างๆ ไปสู่โลกภายนอก
เรามีเว็บไซท์เป็นทางการของโรงเรียน ทั้งสวนฯ ใหญ่ และ สวนฯ ในเครือ
แล้วยังมีเว็บของศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบันหลายสิบรุ่น
..ขนาดสูงวัยอย่าง รุ่นที่ ๘๔ ก็มีความเคลื่อนไหวนำเสนอเรื่องราวบนเว็บของตน
ไม่น้อยหน้าไปกว่าเว็บรวมศิษย์เก่าสวนฯ ที่ชื่อ osknetwork.com (เริ่มต้น- มิถุนายน ๒๕๔๖)
เว็บไซท์ทั้งสองแห่งนี้ จึงเป็นแหล่งสำคัญในการย้อนรอยหาอดีตดังกล่าว.. เริ่มจาก
รณัฐ ปาริฉัตรกานนท์ OSK110 ได้เขียนกระทู้ฝากไว้ในหน้ากระดานของเว็บ
เมื่อครั้งเริ่มต้นใหม่ๆ ประมาณ กลางปี ๒๕๔๖ ว่า..
?หลังจากทำเว็บนี้ขึ้นมา ได้ไปค้นกรุสมบัติของผม
แล้วก็เจอ ..สารสวนกุหลาบ ฉ. 24 ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔
โดยอ่านไปแล้วก็สะดุดที่บทความเรื่องหนึ่งเขียนโดย อ.จารึก บอกว่า...
เมื่อสองวันก่อนมีศิษย์เก่าท่านหนึ่งคือ คุณธงไชย ชื่นประสิทธิ์ (ท่านเข้าสวนฯ ปี ๒๔๘๒)
ได้มาขอเพลงโรงเรียน และท่านได้นำหนังสือเก่าของโรงเรียน
ชื่อ "สวนกุหลาบวิทยา" มามอบให้ท่านผู้อำนวยการด้วย
ซึ่งในหนังสือนั้น มีเนื้อเพลง อยู่ ๒ เพลง ซึ่งเป็นเพลงเก่าที่พวกเราไม่เคยได้ยินมาก่อน
ระบุว่าแต่งเนื้อร้องโดย ท่าน OSK เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
ทำนองโดย OSK พายัพ ดวงพัสตรา (สก.๒๔๖๒) และเนื้อร้องมีดังนี้...
เพลงสวนกุหลาบ
1- สวนกุหลาบต้อง.... ครองเกียรติกำจร
กลิ่นกุหลาบตะหลบอบอวลนคร ผลิดอกสลอนก่อนใครๆ
เรากุหลาบเลิศ เชิดชูวิวัฒน์
พร้อมปฏิบัติพิพัฒน์ผล ดลสวนกุหลาบที่รักของเรา
2- เรากุหลาบอ่อน.... ตอนจะผลิผลิต
รักษา รส และกลิ่นคงไว้ไม่ผิด ชื่อเสียงสวนเรามิเรรวน
สิ่งใดเราทำ จำต้องวิจารณ์
เราจักลงแรงเพื่อสำแดงว่า สวนของเรานี้สวนกุหลาบ
เพลงเดินสวนฯระลึก
พวก เรา ชาว สวน กุหลาบ สุภาพ พูม นัก กีฬา
เชี่ยว ชาญ ใน กรีฑา เรา รัก ยุตติ ธรรม
จริง ฤา เล่น ก็เช่น เดียว กัน ย่อม จะ ไว ้ใจ ได้ วัน ยังค่ำ
ไม่ หนี จะ มี แต่ ทำ- กรณีย์ สดุดี เพราะใจ นักกีฬา
เรือง เดช ดัง สีหราช- อ่อน ดัง นาง ระบำ
เยือก เย็น ประดุจ น้ำ ยาม เร็ว ดุจ ลม
จริง ฤา เล่น ก็ เช่น เดียว กัน เพื่อน มิ ใช่ เพื่อน ย่อม ต้อง นิยม
กีฬา นี่ แหละ อบรม ย้อมน้ำใจ ได้ อย่าง ประเสริฐ เลิศ สมบูรณ์
..เนื้อเพลงที่ท่านได้เห็นนี้ เป็นเนื้อเพลงที่แต่งไว้นานมากแล้ว
นานมากกว่า ๕๐ ปี เนื้อเพลงทั้งสองเพลงนี้ พบอยู่ในปกของหนังสือ "สวนกุหลาบวิทยา"
โดยหนังสือนี้มีประวัติว่า เริ่มพิมพ์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖
..ความหมายของเนื้อเพลงทั้งสองนี้น่าสนใจมาก มีความลึกซึ้งประทับใจแก่ผู้อ่าน
เป็นทั้งบทที่สอนเตือนสติ ให้แง่คิดแก่นักเรียนสวนกุหลาบทุกคน
และศิษย์เก่าจะประพฤติตนให้มีเกียรติประวัติที่ดีงาม และทำประโยชน์ให้แก่โรงเรียนมาโดยตลอด
จึงเป็นการสมควรที่พวกเราชาวสวนกุหลาบ จะได้นำมาประพฤติ ปฏิบัติตาม?
กระทู้ดังกล่าวทิ้งค้างคาไว้แค่นั้น...
ขณะเดียวกันนั้น กลุ่มศิษย์เก่า รุ่นที่ ๘๔ (เข้าเรียนชั้น ม.ศ.๑ ในปี ๒๕๐๘ และจบ ม.ศ.๕ เมื่อ ๒๕๑๒)
ได้จัดทำเว็บไซท์ของตนขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๖ เช่นกัน โดยใช้ชื่อ suan84pantown.com
และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น suan84.com จนถึงปัจจุบัน
ช่วงแรกที่เปิดใช้ ไม่มีอะไรตื่นเต้นมากนัก คงสื่อสารและเผยแพร่เรื่องราวอยู่ในวงแคบๆ
มีเพื่อนฝูงในรุ่นเข้ามาเขียนและอ่านเพียงไม่กี่คน
โดยบางคน ได้ติดต่อสื่อสารเชื่อมไปที่ osknetwork ด้วย อาทิ มานพ แย้มอุทัย (๑๕๗๒๕)
สุริยา ทัศนียานนท์ (๑๕๗๑๖) สนธยา เชี่ยววนิชชา (๑๕๗๓๙) เกษมศักดิ์ กสิศาสตร์ (๑๕๘๕๓)
สัญญา ภูมิจิตร (๑๕๙๕๗) อุดมศักดิ์ เล่ห์หลีกภัย (๑๕๗๑๑) เป็นต้น
ตัดสลับกลับไปที่ osknetwork ที่ขณะนั้นกำลังเป็นที่นิยมในหมู่นักเรียนเก่าสวนกุหลาบ
มีผู้ติดตามอ่านและเขียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเมืองไทย
และบางส่วนในยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพราะสองเว็บมาสเตอร์ซึ่งเป็นศิษย์เก่ารุ่นที่ ๑๑๐ นั้น
คนแรก- อลงกรณ์ เจียมอนุกูลกิจ ปักหลักอยู่ที่อยู่ที่นิวยอร์ค ใช้ชื่อว่า Ikoy
ส่วนอีกคนหนึ่งอยู่นิวเจอร์ซี่ ใช้นามแฝง ว่า Raining Man
และใช้ songwut 110 ตามชื่อจริงและหมายเลขรุ่นของเขาคือ ทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต
ซึ่งรายหลังนี้ได้คืนกลับมาเมืองไทยเมื่อกลางปี ๒๕๔๗
ช่วงสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นการแกะรอยเพลงโบราณทั้งสอง ได้หวนกลับมาอีกเมื่อ..
มีศิษย์เก่าอาวุโสท่านหนึ่ง เข้ามาเขียนในนาม ?สุธน หิญ?
หลังเวลาเริ่มต้นวันใหม่ พฤหัสที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ได้ไม่กี่นาที
โดยเปิดกระทู้ ?จากเศรษฐศาสตร์ สู่..ปูมเพลงมาร์ช ชมพู-ฟ้า (สีงาม)..?
นำเอาบทความมาเผยแพร่ ชื่อเรื่อง ?เศรษฐศาสตร์ผิดพลาดตรงไหน??
จากบทบรรณาธิการ The Progress Report กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๙๘ ปรับปรุง ๗ มกราคม ๒๐๐๔
โดย Fred E. Foldvary บรรณาธิการอาวุโส, สุธน หิญ แปล
(จาก What's Wrong With Economics? www.progress.org/archive/fold23.html )
เพียงไม่กี่ชั่วโมงจากนั้น.. Raining Man เข้ามาสอบถามถึงนามสกุลเต็มของท่าน ซึ่งได้คำตอบทันทีว่า..
ท่านชื่อ พลเรือโท สุธน หิญชีระนันท์ เลขประจำตัว ๙๑๙๐
และเล่าว่า เข้าสวนฯ มาเรียน ม.๒ ข. ซึ่งเป็น นักเรียนใหม่ทั้งห้อง ในเดือน พ.ค. ปี ๒๔๘๖
และจบ ม.๖ เดือน มี.ค.๒๔๙๑ สมัยนั้นชั้นประถมมีเพียง ๔ ชั้น แล้วก็ขึ้น ม.๑
ดังนั้น ม.๖ จึงเป็นการเรียนปีที ๑๐ (ไม่นับชั้นเตรียมประถม)
แล้วกระทู้นี้ ก็เล่าเรื่องของสวนกุหลาบแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีสมาชิกท่านอื่นๆ สอดแทรกเข้ามาเขียนถามตอบกันไม่มีขาด
จนข้ามปีมาถึง เสาร์ที่ ๒ เมษายน ๒๕๔๘ ทรงวุฒิ-เว็บมาสเตอร์ที่กลับมาไทย
ได้รื้อเรื่องเดิมที่เคยเขียนถามไว้เป็นปี นำมาถามอาจารย์สุธน และศิษย์เก่าคนอื่นๆ ในกระทู้นี้อีกครั้ง
และพ่วงวัตถุประสงค์ด้วยว่า หากมีท่านใดทราบเรื่องสองเพลงโบราณดังกล่าว
จะติดต่อนำมาเผยแพร่แก่นักเรียนปัจจุบันได้ขับร้องกันต่อไป
ปรากฏว่า อาจารย์สุธน ไม่สามารถให้ความกระจ่างได้
แต่ก็มีเกร็ดน่าสนใจมาเล่าให้อ่านในการตอบกระทู้ เมื่อ ศุกร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๘ ว่า..
?...สองเพลงที่คุณทรงวุฒิกล่าวถึงนั้น ผมไม่เคยได้ยินเลย
สมัยผมเป็นนักเรียน ส.ก. นั้น มีอาจารย์วิทยาศาสตร์ชื่อ สุทิน สัมปัตตวนิช
(ขออภัย- สะกดนามสกุลไม่แน่ใจครับ)
ท่านคงจะเป็นผู้ประพันธ์เพลงที่ขึ้นต้นว่า "สีงามอร่ามหรูชมพูฟ้า.. "
และที่ขึ้นต้นว่า "หะ สวนกุหลาบเราชนะอีกแล้ว หะ สวนกุหลาบเราชนะอีกแล้ว
ถ้วยคงไม่แคล้วต้องเป็นของเรา.. " แล้วเอามาฝึกให้นักเรียนร้องกัน
คงจะเป็นตอนผมอยู่ ม.๔ พ.ศ.๒๔๘๘ ปีสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒
ซึ่งเริ่มเรียนกันตั้งแต่ ๑ ก.ย. ปกติสมัยนั้นเปิดเทอมแรก ๑๗ พ.ค.
ตอน ม.๓ ก็คงไม่ได้เรียนเกือบทั้งปี แล้วมีการสอบตาม ร.ร.ต่างๆ
บางแห่ง ให้ น.ร.สมัครสอบเอา...มีข่าวสารให้ได้เท่านี้เองครับ?
และยังอธิบายเพิ่มเติมให้อ่านในวันถัดมาว่า..
?...เพลงสีงาม-สมัยผมนั้น เนื้อร้องไม่เหมือนสมัยนี้ครับ
ท่านแต่งไว้ว่า (เท่าที่จำได้ อาจคลาดเคลื่อน เพราะนานมากแล้ว)
สีงามอร่ามหรูชมพูฟ้า งามยั่วยวนประชาให้เห็นเด่น
งามจริงยิ่งเห็นเป็นโชคชัย เราร่วมรักสามัคคี เราผูกไมตรีดีกันไว้
เราร่วมพร้อมน้อมใจ เชียร์เอาชัยไม่มุ่งหยาม เพื่อพวกเราเหล่านักเรียนสวนกุหลาบ
ใจมั่นคง ซื่อตรง และองอาจ ไม่ยอมขลาดหวาดผู้ใด...
อ้อ ! อาจารย์สุทิน สัมปัตตวนิช ภายหลังผมได้เห็นท่านแต่งเครื่องแบบทหารบก
จำไม่ได้ว่าเมื่อไร ยศพันเอกหรือพันโทไม่แน่ใจครับ
ท่านตัวเล็ก ใส่แว่นสายตาสั้นค่อนข้างหนา... คำถามอื่นๆ ผมไม่อาจตอบได้ครับ?
เขียนไว้เพียงเท่านี้.. ก็ทำให้ศิษบ์สวนฯ มากมายที่เข้ามาติดตามอ่าน ได้ความกระจ่างมากขึ้นทีเดียว
ข้ามมาเว็บของ สวนฯ ๘๔ .. เมื่ออาทิตย์ที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๘
?สนธยา? สมาชิกเว็บคนสำคัญ และเป็นอดีตดุริยางค์สวนกุหลาบ
ลูกศิษย์ ?ครูทวีชัย ชัยเจริญ? ได้มาเขียนเล่าเรื่องการค้นหาแผ่นเสียงเพลงเก่า
ผลงานประพันธ์ของ ครูทวี ในเพลง ?ฟ้า-ชมพูคู่ใจ? และ ?สู่แดนสวนฯ?
ซึ่งเจ้าตัวได้นำมาถ่ายถอดบันทึกเสียงขึ้นมาใหม่
จึงแนะนำให้เพื่อนๆ ที่สนใจรำลึกความหลัง สามารถดาวน์โหลดไปฟังกันได้
และอีกยี่สิบวันถัดมา ก็มีเรื่องตื่นเต้นเกิดขึ้นในเว็บนี้ !!
เมื่อเพื่อนร่วมรุ่นชื่อ ?สาทิส สยามเนตร? (๑๕๗๗๓)
ผู้นิยมสะสมของเก่าสารพัดรูปแบบมานานนับสิบปี
เริ่มจากแสตมป์ เครื่องลายคราม หนังสือ ภาพต่างๆ
..จิปาถะมาจนถึง แผ่นเสียงเพลงเก่า ตั้งแต่ยังเป็นแผ่นครั่ง ที่สะสมไว้เป็นร้อยแผ่น
สาทิส เข้ามาเปิดกระทู้ เมื่อเสาร์ที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๔๙
บอกกล่าวต่อเนื่องเรื่องเพลงเก่าของสวนกุหลาบ
โดยมีภาพหน้าตราแผ่นเสียงประกอบให้เพื่อนๆ ทราบว่า..
?ผมไปเจอเลยเอามาให้เพื่อนๆ ดู ? เคยเปิดฟังแล้ว
เป็นเพลงคล้ายๆ เพลงมาร์ชสมัยโบราณ เป็นแผ่นครั่งครับ.....?
โดยภาพหน้าตราแผ่นเสียงสองเพลงนั้นระบุว่า
แผ่นเสียงตรากระต่าย มี ?เพลงสวนกุหลาบ? ด้านหนึ่ง
และ ?เพลงเดินสวนระลึก? อยู่ตรงข้าม มีรายละเอียดบอกว่า
เป็นเพลงประจำ ร.ร.สวนกุหลาบ ขับร้องโดยนักเรียนสวนกุหลาบ
บรรเลงโดยวงดนตรีสากลซาลูน คณะ ต.เง๊กชวน
จากนั้น เพื่อนๆ ร่วมรุ่นหลายคน ก็เข้ามามะรุมมะตุ้มในกระทู้ เพื่อขอฟังเพลงจาก สาทิส
และหนึ่งในจำนวนนั้น ซึ่งเป็นผู้เปิดฉากเปลี่ยนโฉมจากภาพและตัวหนังสือให้ออกมาเป็นเสียงเพลง
ก็มิใช่ใครอื่น ..เขาละ นายสนธยา ผู้ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ กว่ายี่สิบปี
โดยพยายามไม่เดินทางออกนอกพื้นที่ หากไม่จำเป็นจริงๆ
สนธยา เสนอให้สาทิส ส่งไฟล์เสียงเพลง (ที่บันทึกเสียงโดยใช้เครื่องไขลาน)
ขึ้นบนเว็บให้เพื่อนๆ ได้ฟัง แต่ติดปัญหาด้านเทคนิคบางประการ
จึงหาทางออกด้วยวิธีง่ายๆ ที่หลายคนอาจเห็นว่า ปัญญาอ่อนไปหน่อย
โดยสนธยา นัดแนะให้ สาทิส เปิดแผ่นเสียงโดยใช้เครื่องแบบไขลานเช่นเดิม
ระหว่างที่เครื่องกำลังอ่านแผ่น-ส่งเสียงผ่านลำโพงที่กรุงเทพฯ อยู่นั้น
ให้เอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปจ่อใกล้ๆ
เพื่อถ่ายทอดเสียงเป็นสัญญาณไปเข้าโทรศัพท์ที่เชียงใหม่ของ สนธยา
จะได้นำไปทำงานต่อบนคอมพิวเตอร์ แปลงเป็นไฟล์เสียงและบีบอัดข้อมูล
นำขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซท์ของรุ่นต่อไป
ปฏิบัติการดังกล่าวทำสำเร็จ แล้วนำขึ้นเว็บของ สวนฯ ๘๔ เมื่อวันพุธที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๘
ด้วย ?เพลงสวนกุหลาบ? และวันรุ่งขึ้น ?เพลงเดินสวนฯระลึก? ก็ถูกส่งขึ้นเว็บตามมา
ถัดมา อาทิตย์ที่ ๕ มิถุนายน
สนธยา นำเพลงทั้งสองไปฝากไว้ที่เว็บไซท์อีกแห่งหนึ่ง
แล้วจึงเขียนเชื้อเชิญให้เพื่อนๆ ดาวน์โหลดมาฟังแบบสมบูรณ์ครบถ้วนจริงๆ
แล้วเขายังข้ามฟากไป osknetwork โดยเขียนไว้ในกระทู้
ที่ ทรงวุฒิ กำลังถามไถ่ถึงสองเพลงนี้ กับ อาจารย์สุธน อยู่พอดี
นอกจากนี้ กับข้อความที่ระบุว่า
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดินทร์) เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง
กับ นายพายัพ ดวงพัสตรา เขียนทำนอง ..ก็ส่งผลให้ สนธยา อยู่นิ่งเฉยไม่ได้
เพราะมีเพื่อนร่วมรุ่น ๘๔ คนหนึ่งที่ใช้นามสกุล ?ดวงพัสตรา?
เขาจึงรีบโทรศัพท์ไปหาเพื่อนคนนี้ที่ชื่อ ?ภราดรกุล? (๑๕๘๒๓)
เพื่อสอบถามทันที จึงได้คำตอบยืนยันมาชัดเจนว่า
ภราดรกุล เป็นบุตรชายคนสุดท้องของ คุณพ่อพายัพ (สก.๓๗๘๗)
ซึ่งถึงแก่กรรมขณะที่เขามีอายุเพียงสิบขวบ และเคยได้ยินท่วงทำนองเพลงอยู่บ้าง
แต่จำไม่ได้มากนัก เนื่องจากยังเป็นเด็กเล็กเกินไป
และรับปากว่า จะไปสืบหาข้อมูลของคุณพ่อเพิ่มเติมจากพี่สาวคนโตให้อีก
ข่าวสารการค้นพบข้อมูลของสองเพลง ที่มีบันทึกพร้อมทั้งภาพและตัวแผ่นเสียง
กระทั่งสามารถถอดออกมาเป็นเสียงจริงๆ ฮือฮาอยู่ในหมู่นักเรียนเก่าสวนกุหลาบ
ที่ติดตามอ่านจากเว็บไซท์ทั้งสองแห่ง อีกทั้งมีการวิเคราะห์เนื้อร้อง
ท่วงทำนองของเพลง อย่างเป็นหลักเป็นเกณฑ์จากผู้สนใจ
(ได้มีการแลกเปลี่ยนปรึกษากัน
จนมีปรับเนื้อร้องบางคำให้ตรงกับเสียงร้องที่ได้ยินจากแผ่นเสียงให้มากที่สุด
อาทิเช่น คำว่า ?ผลัดดอก..? ก็ร่วมกันพิจารณาว่าน่าจะเป็น ?ผลิดอก..? มากกว่า
หรือคำว่า ?ยามเร่งดุจลม? น่าจะเป็น ?ยามเร็วดุจลม? เป็นต้น)
และ สนธยา ได้เสนอแนะฝากให้ ?มานพ แย้มอุทัย? อดีตสต๊าฟเชียร์สวนฯ เมื่อปี ๒๕๑๑-๑๒
นำไปเผยแพร่ให้นักเรียนปัจจุบัน ได้ขับร้องสืบทอดมรดกเพลงชิ้นนี้
..ทว่า ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เกิดขึ้น
แต่ สนธยา ก็ได้เขียนบันทึกเรื่องราวค้นพบมรดกชิ้นสำคัญนี้
ลงในหนังสือที่ระลึกวาระครบรอบ ๔๐ ปี
แห่งมิตรภาพของนักเรียนสวนกุหลาบฯ รุ่นที่ ๘๔
และได้จัดงานสังสรรค์ขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘ บริเวณระเบียงตึกยาวชั้นล่าง..
ในงานนี้ สาทิส ลงทุนหอบหิ้วเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบไขลาน
มาเปิดเพลงโบราณทั้งสองให้เพื่อนร่วมรุ่นได้ฟังกันจะๆ เล่นเอาตื่นเต้นกันทั้งงาน
โดยเจ้าตัวเล่าว่า ได้แผ่นเสียงนี้มานานเป็นสิบปีแล้ว
ได้ลองเปิดให้คนทั่วไปรวมทั้งศิษย์เก่าสวนฯ บางรุ่นบางคนได้ฟัง มีแต่เฉยๆ กัน
จึงเก็บเข้าไว้ในกรุของเก่าของตน จนมาอ่านพบ เรื่องตามหาเพลงเก่าในเว็บไซท์ของรุ่น ๘๔
จึงได้เสนอเรื่องเพลงทั้งสองนี้เข้ามา และกลายเป็นที่ฮือฮาขึ้น จึงนำมาโชว์ในงานคืนนี้
และมี ภราดรกุล ทายาทของผู้ประพันธ์ทำนองเพลง ร่วมให้ความคิดเห็นด้วย
มีการบันทึกทั้งภาพนิ่งและวิดีโอเทป ออกเผยแพร่ผ่านเว็บไซท์ทั้งสองแห่งในวันรุ่งขึ้นและวันถัดมา
เป็นอันว่า เรื่องราวของ สองเพลงโบราณ สถิตอยู่บนเว็บไซท์
ให้ผู้สนใจได้อ่านและแสดงความเห็นอยู่เนืองๆ
จนเวลาผ่านข้ามมาถึงช่วงกลางปี ๒๕๔๙
มานพ ? ผู้มีเหตุค้างคาในหัวใจกับสองบทเพลงนี้
ได้เขย่ากระทู้ดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อจันทร์ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ว่า
?ไม่ลืมเลยว่า.. สนธยา ณ เชียงใหม่ ..เคยปลุก (นอน และ อารมณ์) เมื่อปีที่แล้วว่า..
ควรจะนำเพลงโบราณของสวนกุหลาบ ทั้งสองเพลงไปเผยแพร่ให้
..เด็กสวนฯ รุ่นลูกได้ฟังและร้องกัน
ผมยังย้อนไปว่า.. ประวัติศาสตร์ของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย..
ไม่ใช่มีเพียงแค่ตัวผมเท่านั้น..ที่จะต้องมีหน้าที่ไปสร้างขึ้นมา
เพราะมีรุ่นทวด-ปู่-ตา-พ่อ-พี่..ช่วยกันมาตลอด..
อีกทั้งยังมีรุ่นลูก-หลาน-เหลน..คอยช่วยกันเต็มที่อยู่แล้ว
ผมจึงปฏิเสธ..ไปโดยเด็ดขาดว่า..?ให้คนอื่น-ทำเหอะ?
.................................................................................................................
แต่ผ่านไปหนึ่งปีเต็ม
เผอิญว่า..ผมต้องเขียนอวยพรวันเกิดเพื่อนในเว็บ suan84
และเขียนให้แก่ ?ภราดรกุล ดวงพัสตรา?
จึงย้อนคำนึงไปถึงเรื่องค้างคา-ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น
อาจจะเป็นเพราะ.. เมื่อรวม- อารมณ์..ผนวกกับ..(บอกไม่ถูกว่า-)..มนตรา
..ของสิ่งที่ค้างคาในสองเพลงนี้หรือเปล่า ? ..ก้อไม่รู้
ผมจึงตัดสินใจเริ่มต้นสร้างงาน.. renovate..เพลง "สวนกุหลาบ" และ "สวนฯระลึก?
.........................................................................................................
ไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีหรือเปล่า..
เพราะเราต้องมาสวมบทบาท "อินเดียน่า โจนส์"
ตามล่าหาเหตุการณ์ของเพลงนี้.. เมื่อ-ร่วมเจ็ดสิบปี..ผ่านไป?
เป็นคำสารภาพของ มานพ หลังจากติดต่อมอบหมายงาน renovate เพลงทั้งสอง
ให้แก่ ?จิ๊บ-มงคลพัฒน์ ทองเรือง? สก. รุ่นที่ ๙๑ ซึ่งคุ้นเคยสร้างสรรค์งานเพลงร่วมกันมา
โดยก่อนหน้านั้น มานพ ไปติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมจาก มูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
โดย ?คุณยาหยี สาวนายน? ทายาทของท่าน-ผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงทั้งสอง
ได้บอกกล่าวว่า.. ไม่มีข้อมูลหลักฐานใดๆ ของสองเพลงนี้เลย
จึงติดต่อขออนุญาตจาก ภราดรกุล เพื่อนร่วมรุ่น ที่จะขอทำงานชิ้นนี้
พร้อมทั้งขอให้ช่วยแสวงหาข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของคุณพ่อพายัพ
จากพี่สาวของเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ครั้นได้เดโม (demo) ของเพลงทั้งสองที่ จิ๊บ-มงคลพัฒน์ renovate ดนตรีให้ร่วมสมัยปัจจุบันมากขึ้น
ก็ได้ส่งให้เพื่อนร่วมรุ่น ๘๔ ที่เกี่ยวข้องได้ฟังและแสดงความเห็น
เช่น สาทิส-ผู้ค้นพบแผ่นเสียง, สนธยา-ผู้ก่อหวอดงานขึ้นมา, ภราดรกุล-ทายาทผู้แต่งทำนอง,
เกษมศักดิ์-เว็บมาสเตอร์ suan84.com ผู้ที่จะนำเพลงเผยแพร่ผ่านเว็บไซท์ เป็นต้น
จนถึงกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๔๙ งานบันทึกเสียงดนตรีโดยใช้คอมพิวเตอร์
จากฝีมือของ มงคลพัฒน์ เสร็จสมบูรณ์ คอยให้นักร้องมาลงเสียงในขั้นตอนต่อไป
ซึ่งมีการติดต่อนักร้องที่เป็นนักเรียนเก่าสวนกุหลาบรุ่นใหม่ๆ
ที่มีชื่อเสียงอยู่ในวงการ ให้มาขับร้อง แต่ก็ไม่ลงตัวเท่าไรนัก
มานพ จึงตัดสินใจขอให้ ?ยืนยง โอภากุล? หรือ ?แอ๊ด คาราบาว?
ที่มิได้เป็นศิษย์เก่าช่วยขับร้องเพลง ?สวนกุหลาบ? ให้
ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยน้ำใจแห่งความเป็นมิตร และไม่คิดค่าน้ำเสียงแต่อย่างไร
แอ๊ด บันทึกเสียงร้องส่งให้ มงคลพัฒน์ มิกซ์ดาวน์กับเสียงดนตรี
เสร็จสมบูรณ์เต็มเพลงเมื่อกลางเดือนสิงหาคม ๒๕๔๙
แล้วนำออกเผยแพร่ผ่านเว็บของรุ่น ๘๔ ในทันที
จากนั้นเป็นงานบันทึกเสียงร้องเพลง ?สวนฯ ระลึก? ที่มอบให้
?กุ้ง-กิตติคุณ เชียรสงค์? ศิษย์เก่า รุ่น ๘๘ เลือดเนื้อเชื้อไขแท้ๆ เป็นผู้ขับร้อง
เมื่อศุกร์ที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๙ และมิกซ์ดาวน์เสียงเสร็จสมบูรณ์เมื่ออาทิตย์ ๑๐ กันยายน
นำออกเผยแพร่ในเวลาต่อมา
เมื่อ สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯ กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติ
?๖๐ ปี ครองราชย์ สวนกุหลาบ รวมใจ เทิดไท้ องค์ราชัน? ขึ้น
กรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึก
ได้เสนอให้นำเรื่องราวการค้นพบสองบทเพลงแห่งความภาคภูมิใจของชาวสวนฯ บรรจุในเล่ม
เพื่อเผยแพร่เป็นบันทึกไว้ให้ลูกหลานสวนกุหลาบในอนาคต
ได้ซึมซับเป็นมรดกที่จะถ่ายทอดสืบต่อไป
ภราดรกุล จึงได้เร่งค้นหาสิ่งที่คุณพ่อพายัพ ทิ้งไว้เป็นหลักฐาน
เพื่อนำมาเสริมเรื่องราวให้สมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้น
และโชคดีอีกเช่นกัน ที่ค้นพบบันทึกชุดสำคัญ
ซึ่งระบุถึงที่มาที่ไปบางส่วนของสองบทเพลงดังกล่าวนี้
ในสภาพที่รอดพ้นถูกมอดและปลวกทำลายได้หวุดหวิด
เราจึงได้ความกระจ่างถึงเส้นทางการสร้างสรรค์บทเพลงทั้งสองนี้มากขึ้นอีกระดับหนึ่ง
ถึงแม้จะยังไปไม่ถึงครบถ้วนสมบูรณ์แบบก็ตาม
จากบันทึกที่ค้นพบ สามารถถอดความได้ว่า
คุณพ่อพายัพ ในฐานะนักเรียนเก่าสวนกุหลาบ ได้เขียนโน้ตทำนองเพลงทั้งสองนี้ขึ้นมา
แล้วจึงนำไปเรียนปรึกษา หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
ผู้เป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบคนที่ ๔ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ (ยศ พ.ท. ในขณะนั้น)
ให้ช่วยนำเสนอแก่ ขุนจำนงพิทยประสาท
(ครูโรงเรียนสวนกุหลาบ-และดำรงตำแหน่งครูใหญ่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐)
ช่วยประพันธ์เนื้อร้องให้
ทว่า ขุนจำนงฯ ได้พาเข้าพบ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เพื่อการนี้อีกทอดหนึ่ง
ต่อมา กรมหมื่นฯ ได้มีบันทึกลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๒
ตอบกลับฝากมาถึงขุนจำนงฯ ความว่า
?ตามที่ขุนจำนงมากับนายพายัพ นำโน้ตเพลงที่นายพายัพแต่งมาให้
ขอให้แต่งคำสำหรับเป็นเพลงร้องของสวนกุหลาบนั้น
ได้ตรึกตรองดูเห็นว่าจะรับทำไม่ไหว ที่แท้ได้ลองรายอื่นทีหนึ่ง ก็ไม่สำเร็จ
เพราะไม่เข้าใจดนตรี จึงไม่อาจทำได้ดี
สิ่งใดทำไม่ได้ดีเป็นที่พอใจตนเองก็ไม่อยากทำ
ขุนจำนงช่วยบอกนายพายัพด้วย (ลงชื่อ) กรมพิทยาลงกรณ์?
จากนั้น ขุนจำนงฯ จึงได้มีจดหมายลงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๘๒
พร้อมแนบบันทึกข้างต้น ส่งถึง หลวงสารานุประพันธ์ ความว่า
?ตามที่คุณหลวง ขอร้องและนำนายพายัพไปพบผม
เพื่อให้ช่วยตรวจแก้บทเพลงนั้น ผมได้พิจารณาดูโดยตลอดแล้ว
รู้สึกหนักใจเป็นที่สุด ทั้งไม่อาจจะอธิบายอะไรได้ดีไปกว่าที่ว่า
การประพันธ์ครั้งนี้ ไม่ได้อาศัยไวยากรณ์ของการดนตรีสากลเป็นหลัก
จึงเรียนมาเพื่อความกรุณาจากคุณหลวงด้วยเป็นอย่างมาก
และพร้อมนี้ได้ส่งคืนบทเพลงทั้ง ๒ ฉะบับนั้นมาด้วยแล้ว
ขอแสดงความนับถือ (ลงชื่อ) จำนง........?
ถึงอย่างไรก็ตาม บทเพลงทั้งสองยังคงมีเส้นทางทางเดินต่อไป
จนสำเร็จลุล่วง บันทึกแผ่นเสียงปรากฏอยู่บนแผ่นดินสยาม
ตามหลักฐานที่เราติดตามย้อนรอยมาแต่ต้น
โดยมีบันทึกต่างๆ ของคุณพ่อพายัพ ดวงพัสตรา ที่ ภราดรกุล
เป็นหลักฐานยืนยัน พร้อมทั้งแผ่นโน้ตเพลง ที่บ่งบอกว่า...
ท่านเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้รับเป็นผู้ประพันธ์คำร้องเพลงทั้งสองให้
(ตามประวัติของท่านในช่วงเวลานั้น
ได้ลาออกจากราชการ มาพักผ่อนอยู่ที่บ้านแถวคลองจุลนาค หรือย่านผ่านฟ้าในเวลานี้
และท่านกำลังสนับสนุนให้ธิดาดำเนินกิจการโรงเรียนสตรีจุลนาค)
โดยเพลง ?สวนกุหลาบ? นั้น
ได้ลงบันทึกเวลาการเขียนโน้ตเพลงเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๔๘๒
(และจากโน้ตที่เขียนขึ้นตอนแรกนั้น จั่วหัวไว้ว่า เพลง ?ชมภู-ฟ้า?
แต่เมื่อเสร็จสมบูรณ์จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นเพลง ?สวนกุหลาบ?
ซึ่งคาดว่า- น่าจะมาจากการที่ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประพันธ์เนื้อร้อง
โดยไม่ได้กล่าวถึงสีประจำโรงเรียนไว้ในบทเพลงเลย)
และส่วนหนึ่งของผลงานที่ คุณพ่อพายัพ
ได้บันทึกไว้ในหนังสือประวัติประจำตัว ระบุไว้ว่า..
? ..เพลงสวนกุหลาบ ได้แต่งให้สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒
ได้รับการรับรองจากกรรมการของสมาคม
ให้ใช้เป็นเพลงประจำสมาคม และโรงเรียนสวนกุหลาบแล้ว
และได้บันทึกลงแผ่นเสียงแล้ว
เพลงเดินสวนฯ ระลึก ได้แต่งให้สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบ พร้อมกับเพลงสวนกุหลาบ
ได้รับการรับรองและได้บันทึกลงแผ่นเสียงแล้วเช่นเดียวกัน.. ?
เรื่องราวที่รวบรวมมาทั้งหมด
ยังคงเหลือระยะเวลาเพียง ๒๕ วันในเหตุการณ์เท่านั้น
ที่จะต้องค้นหากันต่อไปว่า..
จากวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๘๒ ที่ คุณพ่อพายัพ ได้รับบันทึกปฏิเสธการเขียนคำร้องมา
แล้วท่านได้พบปะจนสามารถรับความเมตตาจาก
เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ประพันธ์เนื้อร้องเพลงทั้งสองได้อย่างไร
จึงเขียนบันทึกไว้บนแผ่นโน้ตและเนื้อเพลงว่า..
เสร็จเมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๔๘๒
และเส้นทางไปสู่ขั้นตอนการบันทึกเสียง
จนเสร็จสมบูรณ์ออกเผยแพร่แก่สาธารณะนั้น ..มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง
กระทั่งหายสาบสูญไปอยู่ในซอกหลืบประวัติศาสตร์ของสวนกุหลาบ
เป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษ จึงถูกค้นหาประสบพบเจอขึ้นมา
จนถึง ศุกร์ที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๙
..วันที่ลูกสวนกุหลาบทุกหมู่เหล่า ได้รวมพลังรวมใจ
ถวายความจงรักภักดี เทิดไท้ องค์คีตราชันย์
..พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช
วาระครบรอบ ๖๐ แห่งการครองราชย์
และกำลังก้าวสู่ห้วงเวลาเฉลิมพระชนมายุ ๘๐ พรรษา
มรดกสองบทเพลงนี้ จึงได้ปรากฏแก่ลูกสวนฯ อีกคราหนึ่ง
ด้วยบันทึกชิ้นนี้ที่สัมผัสได้ด้วยสายตา
และยังมีโอกาสใช้โสตสัมผัสจากเสียงที่บันทึกไว้บนแผ่นซีดี.
แนบพร้อม ?ระฦกสาร? ฉบับนี้
โดยบรรจุไว้ทั้งเสียงจากต้นฉบับ (original)
ที่เล่นผ่านเครื่องเสียงแบบไขลานและแบบใช้ไฟฟ้า
กับบทเพลงที่ปฏิสังขรณ์ (renovate) ขึ้นมาใหม่ให้ร่วมสมัยกับปัจจุบัน
เราคาดหวังว่า ภารกิจที่รวบรวมมาเสนอทั้งหมดนี้
จะเป็นการนำร่องไปสู่ การค้นหาเพื่อความสมบูรณ์ครบถ้วนของบทเพลงทั้งสองในที่สุด
อีกทั้งน่าจะจุดประกายให้พวกเราได้ค้นหา มรดกชิ้นต่างๆ ของสวนกุหลาบ
ที่หลบซ่อนอยู่ในซอกหลืบประวัติศาสตร์
ออกมาให้รุ่นลูกหลาน ได้สืบสานตำนานกันต่อไป อย่างไม่รู้จบ
รายละเอียด บทเพลงที่บันทึกเสียงลงบนแผ่น ซีดี.
๑. เพลง สวนกุหลาบ ต้นฉบับเดิม
ถ่ายทอดจากแผ่นครั่ง-ผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบใช้ไฟฟ้า
๒. เพลง สวนฯ ระลึก ต้นฉบับเดิม
ถ่ายทอดจากแผ่นครั่ง-ผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบใช้ไฟฟ้า
๓. เพลง สวนกุหลาบ renovate ดนตรีขึ้นใหม่
โดย มงคลพัฒน์ ทองเรือง สก.๙๑ และ ยืนยง โอภากุล ให้เกียรติขับร้อง
๔. เพลง สวนฯ ระลึก renovate ดนตรีขึ้นใหม่
โดย มงคลพัฒน์ ทองเรือง สก.๙๑ และ กิตติคุณ เชียรสงค์ สก.๘๘ ให้เกียรติขับร้อง
๕. เพลง สวนกุหลาบ ต้นฉบับเดิม
ถ่ายทอดจากแผ่นครั่ง-ผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบไขลาน
๖. เพลง สวนฯ ระลึก ต้นฉบับเดิม
ถ่ายทอดจากแผ่นครั่ง-ผ่านเครื่องเล่นแผ่นเสียงแบบไขลาน
By : chang
( IP : 58.8.123.xxx )
(Read 501 | Answer 1 2006-12-09 16:20:25 )
|
|
|
|
|
|
|
|
|