|
|
|
หัวข้อ :เกาหลีศึกษา : กระแสยอดฮิตในเอเชียตะวันออก [ No. 465 ] |
|
รายละเอียด :
เกาหลีศึกษา : กระแสยอดฮิตในเอเชียตะวันออก
อันยังฮาเซโย เป็นคำกล่าวทักทายตามแบบฉบับของชาวเกาหลีที่หลายท่านคงได้ยินกันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะจากภาพยนตร์ ละคร หรือเพื่อน ๆ ที่เรียนภาษาเกาหลีด้วยกัน เพราะขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมของผู้คนจำนวนไม่น้อย ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศในแถบเอเชียตะวันออก และประเทศอื่น ๆ เกือบทั่วโลกกำลังให้ความสนใจภาษาเกาหลีไม่น้อยเลย
สำหรับในแวดวงการศึกษาไทยนั้น เราจะเห็นว่าเกาหลีศึกษาได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากเป็นเวลานานนับสิบปีมาแล้ว โดยในระยะเริ่มแรกได้แทรกอยู่ในวิชาสังคมศึกษา และประวัติศาสตร์
แต่เมื่อกระแสความนิยมเพิ่มมากขึ้น สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งได้บรรจุรายวิชาภาษาเกาหลีไว้ในหลักสูตรการศึกษา ทั้งในฐานะวิชาเอก วิชาโท หรือบางแห่งอาจกำหนดไว้เป็นวิชาเลือก สำหรับมหาวิทยาลัยที่บรรจุเป็นวิชาเอกหรือวิชาโท เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยที่บรรจุไว้เป็นวิชาเลือก เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และรวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏอีกหลายแห่ง
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกาหลีศึกษาได้รับความสนใจในแวดวงการศึกษาบ้านเราจนกลายเป็นกระแสยอดนิยม จนถึงขั้นที่อาจเรียกได้ว่า เกาหลีฟีเวอร์ ซึ่งก็คงจะไม่แตกต่างไปจากหลาย ๆ ประเทศทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออก ต่างได้รับอิทธิพลจากสื่อความบันเทิงต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของภาพยนตร์ ละคร เพลง รวมถึงดาราเกาหลี ที่ได้แทรกซึมเข้าไปเป็นแรงดึงดูดสำคัญยิ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจและเลือกเรียนเกาหลีศึกษา โดยเฉพาะภาษาเกาหลี เพราะต่างเชื่อมั่นว่าเมื่อเรียนจบแล้วสามารถยืนยันได้เกือบ 100% ว่าจะไม่ตกงาน เนื่องจากปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีบริษัทเกาหลีจำนวนไม่น้อยได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ ยังมีหลายองค์กรของสาธารณรัฐเกาหลีได้เข้ามามีบทบาทช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้เกาหลีศึกษาในหลาย ๆ ประเทศได้เติบโตเบ่งบานไปอย่างรวดเร็ว โดยมีหลายโครงการเพื่อเป็นสื่อกลางนำพาให้ชาวต่างชาติหันไปสนใจและเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้เพื่อความเข้าใจทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีอย่างลึกซึ้งและถูกต้อง
มูลนิธิเกาหลี (Korea Foundation) เป็นองค์กรหนึ่งที่สร้างความเข้าใจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สาธารณรัฐเกาหลีสู่สายตาของชาวโลก ด้วยโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศหลายโครงการ เช่น การสนับสนุนการสอนภาษาเกาหลีในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การเปิดโอกาสให้ครูผู้สอน นักเรียน นักศึกษา ด้านเกาหลีศึกษาได้ไปสัมผัสประเทศเกาหลีหรือไปเรียนภาษาเกาหลีที่มหาวิทยาลัยในเกาหลี เป็นต้น
และเมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิเกาหลี ร่วมกับมหาวิทยาลัยสตรีอีวา (Ewha Womans University) ของสาธารณรัฐเกาหลี เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมปฏิบัติการเรื่อง ?เกาหลีศึกษา? สำหรับนักการศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขึ้น ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ครูผู้สอนระดับมัธยมศึกษา และนักการศึกษารวม 17 คน จาก 8 ประเทศ คือ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ บรูไน อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และลาว โดยสาธารณรัฐเกาหลีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
การประชุมดังกล่าว มีทั้งการบรรยาย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และศึกษาดูงานนอกสถานที่ เพื่อศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นเกาหลีในทุกเรื่องทุกแง่ทุกมุมทั้งวิถีชีวิต เศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ภาษา ประวัติศาสตร์ ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ ครอบคลุมคำว่าเกาหลีศึกษาอย่างแท้จริง
จากการรับฟังการบรรยายจากอาจารย์ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอันดับต้น ๆ ของประเทศในแต่ละหัวข้อ ได้ทราบว่าเกาหลีมีหลายสิ่งคล้ายคลึงกับประเทศไทย ในขณะที่มีอีกหลายอย่างที่ก้าวล้ำนำหน้าบ้านเราไปหลายเท่าตัว จะเห็นได้ว่ารูปแบบของชีวิตประจำวันและค่านิยมในเกาหลีว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนเกาหลีมีการแต่งงานน้อยลง และแต่งงานในอายุเฉลี่ยที่มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการเกิดลดลง ในขณะที่อัตราการหย่าร้างสูงขึ้น
ด้านการศึกษาเกาหลีเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง จึงเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการรู้หนังสือสูงที่สุดในโลก การพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นจุดเด่นของเกาหลีใต้คือมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนของบริษัทต่าง ๆ เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาหลีที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลก และอีกหนึ่งจุดเด่น คือ การก้าวเข้าสู่ยุคไอทีและดิจิตอล เกาหลีจึงถือเป็นผู้นำทางด้านไอทีและเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกโทรศัพท์มือถือซัมซุง (Samsung) ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ระยะเวลา 14 วันในเกาหลี นับจากวันแรกที่มีงานเลี้ยงต้อนรับโดยการเชิญแขกระดับ VIP และทูตของประเทศต่าง ๆ มาร่วมงานอย่างยิ่งใหญ่ จนกระทั่งถึงงานเลี้ยงอำลา โดยเฉพาะการศึกษาวิธีการทำความเคารพและพิธีชงชาแบบเกาหลี ทุกคนได้มีโอกาสแต่งกายตามประเพณีชาติเกาหลีที่เรียกว่า ชุดฮันบก ล้วนได้สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนอย่างถ้วนหน้าจนยากที่จะลืมเลือน นับเป็นความสำเร็จในภารกิจสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมูลนิธิเกาหลีและมหาวิทยาลัยสตรีอีวาในครั้งนี้
สิ่งเหล่านี้ถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการลงทุนเพื่อการประชาสัมพันธ์เกาหลีศึกษาไปยังประเทศต่าง ๆ อย่างได้ผลและคุ้มค่า อีกทั้งยังเป็นวิธีการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศเกาหลีต่อสายตาของชาวโลกได้ไม่น้อย.
ฟาฏินา วงศ์เลขา
ที่มา: http://www.dailynews.co.th/dailynews/pages/front_th/popup_news/Default.aspx?Newsid=105947&NewsType=1&Template=1
By : chang
( IP : 58.8.115.xxx )
(Read 6958 | Answer 13 2007-02-12 13:35:23 )
|
|
|
|
|
|
|
|
|