|
|
|
หัวข้อ :" อยากรวย....มาทางนี้ " [ No. 500 ] |
|
รายละเอียด :
พอได้ยินคำว่า เศรษฐี ไม่ว่าใคร จะเป็นเด็กที่พอรู้ความ ผู้ใหญ่ คนแก่ คน เ ฒ่า ทั้งหญิง ทั้งชาย ต่างก็ชอบที่จะได้ฟัง
ปรารถนาจะเป็นด้วยกันทุกคน เพราะคนที่เป็นเศรษฐี ก็หมายถึงคนที่มีเงินมีทองมาก ร่ำรวย เพียบพร้อมด้วย สมบัติต่างทรัพย์สิน
เช่น มีรถงาม ๆ คันโต ๆ บ้านใหญ่ ๆ สวย ๆ มีที่ดินมากมาย ตลอดจนมีเครื่องใช้ไม้สอย เครื่องประดับตกแต่ง
แต่ละอย่างล้วนแต่ดี ๆ มีค่ามากทั้งนั้น ดูราวกับว่า ถ้าต้องการอะไร คนที่เป็นเศรษฐีหรือคนที่ร่ำรวยเงินทอง
แทบจะบันดาลให้เป็นไปได้ทั้งนั้น ฉะนั้นคนส่วนใหญ่ จึงปรารถนาจะ ้เป็นด้วยกันทั้งนั้น แต่จะทำอย่างไรจึงจะได้เป็นเศรษฐี
ข้อนี้ยังเป็นปัญหา ข้าพเจ้าแม้จะไม่เคยเป็นเศรษฐีจริง ๆ แต่ก็เคยได้เห็นเคยได้ยิน หรือได้คุยกับคนที่ เขาเป็นเศรษฐีมาแล้วหลายคน
ปรากฎว่าคนที่จะเป็นเศรษฐีได้จริง ๆ และมีความสุขดีด้วย จำเป็นต้องมีคาถาดีหรือเรียกว่ามีคุณธรรมดีอย่างน้อย 4 ข้อ หรือที่เรียกกันว่า
"หัวใจเศรษฐี"ด้วยกันทุกคน ถ้าขาดคุณธรรม 4 ข้อนี้ จะเป็นเศรษฐีที่ดีมั่นคงถาวรและมีความสุขอย่างแท้จริงได้ยาก
คาถาหัวใจเศรษฐีนี้ บรรดาเศรษฐีเขาถือกันว่าเป็นหัวใจที่จะต้องหมั่นท่องเป็นประจำไม่ขาดแม้แต่วันเดียว
คาถามีแค่ 4 ตัว จำง่าย ใครที่อยากเป็นเศรษฐีหรือสนใจอยากจะจดจำไปใช้ท่องบ้างก็ไม่ขัดข้อง
ไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด คาถาบทนี้เป็นคาถาเก่าแก่ที่ท่านใช้กันมาแต่โบราณ คาถามีอยู่ว่า "อุ อา กะ สะ"
ถ้าใครอยากเป็นเศรษฐีที่เพียบพร้อมด้วยความสุข ต้องหมั่นท่องทุกวันอย่าให้ขาด ไม่ว่าจะทำอะไรหรือกิจการใด
ถ้านึกขึ้นได้ก็ให้รีบท่องไว้ ยิ่งท่องไว้ได้เป็นประจำ ก็จะทำให้เป็นเศรษฐีได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น
ที่สำคัญถ้าต้องการให้ได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ละก็ ต้องทำตามคาถาที่ท่องนั้นด้วย
คาถาทั้ง 4 ตัวนั้น
ย่อมาจากคำสี่คำ ดังนี้
คำว่า "อุ" ย่อมาจากคำว่า "อุฎฐานสัมปทา" ซึ่งแปลว่า "ความถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร
หมายถึง ถ้าอยากเป็นเศรษฐี ก่อนอื่นต้องมีความขยันหมั่นเพียร เริ่มตั้งแต่ต้องขยันหมั่นเพียรในการแดงหาความรู้ วิชาการต่าง ๆ
ตลอดจนการเรียนรู้วิชาชีพ ขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงานที่รับผิดชอบหรือที่ได้รับมอบหมายให้กระทำโดยไม่บกพร่อง
และพยายามแก้ไขการงานที่ได้รับมอบหมายหรือที่กระทำอยู่ให้ดียิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การงานมีประสิทธิภาพ
และได้ผลดีที่สุด ต้องขยันทำมาหากิน โดยไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคที่ต้องเผชิญหน้า ตลอดจนต้องคอยศึกษาหาความรู้สำหรับใช้รักษาตัวเองและครอบครัวมิให้เกิดการเจ็บป่วยด้วย
คำว่า "อา" ย่อมาจากคำว่า "อารักขสัมปทา" ซึ่งแปลว่า ความถึงพร้อมด้วยการความหมั่นรักษา หมายถึง เมื่อได้รับมอบหมายการงานอะไรให้กระทำ
หรือเมื่อได้ดำเนินกิจการงานอะไร ไม่ว่าจะเป็นของตนหรือของคนอื่นก็ดี ต้องเป็นคนมีความรับผิดชอบในการงานหรือกิจการนั้น ๆ
มิให้บกพร่องต่อหน้าที่ อะไรที่ยังทำไม่ดีก็พยายามทำให้ดี อะไรที่ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดี เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำงานต้องหมั่นดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลาโดยไม่ปล่อยปะละเลย
เช่น มีอะไรชำรุดเสียหายก็แก้ไขให้ดี ตลอดไปจนถึงต้องรู้จักรักษาทรัพย์สินเงินทองที่เกิดจากการปฏบัติงาน
เกิดจากการทำมาหากินหรือที่รับผิดชอบอยู่มิให้สูญเสียหรือใช้ไปให้สิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ หรือปราศจากเหตุผลอันสมควร
หน้าที่การงานที่กระทำอยู่หรือกิจการส่วนตัวที่ดำเนินอยู่ก็อย่าให้ต้องหลุดมือไปง่าย ๆ เพราะการงานที่ทำแต่ละอย่างไม่ใช่จะหาได้ง่ายนัก
ฉะนั้น เมื่อได้การงานใด ๆ แล้ว ก็อย่าทำให้งานที่ทำนั้นต้องหลุดไป นอกจากกรณีที่เราได้งานหรือกิจการใหม่ที่เราพิจารณาเห็นชัดแล้วว่าจะต้องทำให้เราดีกว่าเดิมได้
จึงค่อยพิจารณาเปลี่ยนแปลง ถ้าการงานหรือกิจการที่ดำเนินการอยู่ดีอยู่แล้ว ต้องพยายามรักษาให้ดีที่สุด และต้องพยายามปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ
และประการสำคัญไม่ว่าจะทำงานกับใครที่ไหนก็ตามต้องถือว่างานนั้นเป็นงานของเราเอง เพราะถ้ากิจการของเขาเจริญขึ้น
เราก็จะพลอยได้ผลประโยชน์ไปด้วย ถ้ากิจการของเขาเลวลง เราก็จะต้องพลอยลำบากไปด้วย
คำว่า "ก" ย่อมาจากคำว่า "กัลยาณมิตตตา" ซึ่งแปลว่า ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรเป็นมิตร หมายความว่า
ต้องรู้จักคบมิตรที่ดี มิตรแท้ ที่จะเป็นกัลยาณมิตรหรือเป็นมิตรที่จะพาเราหรือสนับสนุนเราไปสู่ความเจริญก้าวหน้า
และมีความสุขสมหวังในชีวิตได้ มิตรดีหรือมิตรแท้นี้ท่านแบ่งไว้ 4 จำพวก คือ มิตรอุปการะพวกหนึ่ง
เป็นผู้ที่สามารถจะช่วยเหลือเกื้อกูลเราได้ในยามที่เราเดือดร้อนจำเป็นในด้านทรัพย์สินเงินทองหรือในยามที่
เรามีภัยเดือดร้อน เพราะความประมาทของเรา พวกหนึ่งคือมิตร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมเป็นร่วมตายที่จะอยู่เคียงข้างเรา
เป็นเพื่อนปรับทุกข์กันได้ในยามที่เราถึงความวิบัติเพราะความเลินเล่อเผลอตัวหรือมีภัย พวกหนึ่ง คือ มิตรแนะประโยชน์
มิตรชนิดนี้ท่านหมายถึง ครูบาอาจารย์ผู้มีวิชาการ มีความชำนาญดี ตลอดจนถึงผู้ใหญ่ ผู้บังคับบัญชาที่ดี
ที่จะเป็นผู้คอยห้ามปรามเราในเวลาที่เราเกิดความประมาทกระทำความชั่ว คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
คอยแนะนำสั่งสอนวิชาการที่มีประโยชน์แก่การทำงาน และการดำรงชีวิตที่ถูกต้อง ตลอดจนคอยเมตตา
ให้กำลังใจแก่เราในยามที่เราพลาดหวัง ล้มเหลว หรือ เกิดความท้อถอยขณะในขณะปฏิบัติงาน
มิตรแท้พวกสุดท้ายได้แก่มิตรมีความรักใคร่ เป็นแรงสนับสนุนให้เราสามารถมีกำลังใจต่อสู้อุปสรรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ท้อถอย
มิตรทั้ง 4 ชนิดนี้ควรคบไว้ และควรสร้างให้มีขึ้นแก่เราตลอดชีวิต นอกจากเราจะต้องเลือกคบมิตรที่ดี
มิตรแท้ไว้แล้ว เราต้องเว้นหรือว่าต้องห่างไกลจากมิตรเทียมหรือมิตรชั่วอีก 4 จำพวกด้วยกัน
มิตรเทียมเหล่านี้ได้แก่ มิตรปอกลอก ที่หวังคบเราเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว โดยมิได้ให้ประโยชน์อะไรเลย
หรือให้แต่น้อยหวังเอาแต่มากพวกหนึ่ง พวกหนึ่งได้แก่มิตรดีแต่พูด คือพวกที่ชอบเอาแต่เรื่องไร้สาระหารประโยชน์ไม่ได้มาพูด
หรือเอาสิ่งที่หาประโยชน์จริง ๆไม่ได้มาให้เวลาเราออกปากจริง ๆ ก็พึ่งอะไรไม่ได้เลย
อีกพวกหนึ่ง ก็เป็นพวกหัวประจบที่เวลาเราทำอะไรก็คล้อยตาม เช่น ทำดีก็คล้อยตาม ไม่ห้ามปราม ต่อหน้าก็ทำสรรเสริญเราดี แต่ลับหลังกัลบนินทาเป็นไฟ
มิตรเทียมพวกสุดท้าย พวกนี้ร้ายที่สุด เพราะเป็นประเภทที่ชอบชักชวนเราไปในทางที่ฉิบหายไม่เกิดประโยชน์
เช่นพวกที่ชักชวนไปกินเหล้าเมายา เที่ยวกลางคืน เล่นการพนัน ตลอดจนพาไปหาสิ่งเสพติดให้โทษต่าง ๆ เช่น
ฝิ่น กัญชาฮโรอีน เป็นต้น บุคคลจำพวกหลังนี้ ผู้ที่อยากเป็นเศรษฐีต้องพยายามอย่างไปข้องแวะด้วย คำสุดท้ายว่า "ส" ย่อมาจากคำว่า "สมชีวิตา"
แปลว่า ความเป็นผู้มีความเป็นอยู่เหมาะสมหรือสมควรแก่ฐานะ หมายถึง เมื่อเราแสวงหาทรัพย์มาได้แล้ว ก็ต้องรู้จักใช้จ่าย
ใช้สอยให้เหมาะสมแก่ความเป็นอยู่ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยหรือฝืดเคืองจนเกินไปนัก เช่น เรามีรายได้เดือนหนึ่ง 10,000 บาท
ก็ต้องพยายามใช้จ่ายให้เหมาะสมกับผู้มีเงินเดือนหรือรายได้ 10,000 บาท ไม่ใช่ใช้จ่ายจนเกินเดือนละ 10,000 บาท
อันเป็นการเกินฐานะของตนหรือประหยัดการใช้จ่ายอย่างมาก คือใช้จ่ายเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
คือใช้จ่ายเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง คือใช้จ่ายเพียงเดือนละ 200 - 300 บาท ทั้ง ๆ ที่มีรายได้ถึง 10,000 บาท
ซึ่งเป็นการไม่สมควรแก่ฐานะและความเป็นอยู่ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ถ้าใครปรารถนาจะเป็นเศรษฐี คนร่ำรวยที่ประกอบด้วยความสุขในภายภาคหน้าหรือในอนาคต
ก็ต้องพยายามท่องคาถาทั้ง 4 ตัวนี้ คือ อุ อา กะ สะ ไว้ให้ขึ้นใจเสียแต่วันนี้ และต้องหมั่นท่องไว้อยู่เสมอมิได้ขาด
รับรองว่าจะสามารถเป็นเศรษฐีได้ในเวลาไม่ช้านัก และค่อนข้างแน่นอน ข้อสำคัญต้องถือหลักสี่ประการนี้ไว้ให้มั่น คือ
ประการแรก ต้องเป็นคนหมั่นขยันในการแสวงหาความรู้ วิชาการต่าง ๆ ตลอดจนวิชาชีพที่ตนต้องการให้รู้จริงและชำนาญที่สุด
ต้องขยันทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รับผิดชอบ ต้องขยันทำมาหากิน และต้องรู้จักศึกษาและแสวงหาความรู้ไว้สำหรับรักษาตัวเพื่อป้องกันตนเองและครอบครัว
ประการที่สอง ต้องรู้จักรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ ตลอดรักษาวิชาความรู้ที่เล่าเรียนมา อย่าให้สูญเสียไป และพยายามเพิ่มพูนอยู่เสมอ
ประการที่สาม ต้องรู้จักคบมิตรที่ดี มิตรที่มีความรักใคร่ แนะนำแต่สิ่งที่มีประโยชน์แก่เรา ตลอดจนเป็นผู้สามารถร่วมสุข
ป้องกันช่วยเหลือเราได้ในยามที่มีภัย หรือต้องเดือดร้อนเพราะความวิบัติ หรือเพราะความประมาท
และควรเว้นจากมิตรไม่ดี 4 จำพวก คือ
คนปอกลอกคิดเอาแต่ได้จำพวกหนึ่ง
พวกดีแต่พูดเรื่องไร้สาระหาประโยชน์มิได้
เวลาออกปากก็พึ่งอะไรไม่ได้พวกหนึ่ง
พวกหัวประจบ ทำดีทำชั่วก็คล้อยตาม ไม่ห้ามปราม ซ้ำต่อหน้าสรรเสริญ
ลับหลังยังนินทาหัวเราซะอีก
พวกสุดท้าย คือพวกที่ชอบชักชวนเราไปในทางฉิบหาย
ประการที่สี่ ต้องรู้จักใช้สอยหรือดำรงชีวิตให้เหมาะแก่ฐานะความเป็นอยู่และรายได้ที่ได้รับไม่ให้ฟุ่มเฟือย
ทิ้ง ๆ ขว้างๆ สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ หรืออยู่อย่างฝืดเคือง ทำตัวลำบาก
พร้อมกันนี้
ทุกวันก่อนนอนควรสำรวจว่า ได้ทำครบ 4 อย่างหรือยัง ถ้ายังทำไม่ครบก็ต้องรีบพยายาทำให้ครบ แค่นี้เท่านั้น ท่านก็จะมีโอกาสเป็นเศรษฐีสมใจ
ให้ระวังจิต...เพราะมันจะนำไปสู่ความคิด
ให้ระวังความคิด...เพราะมันจะนำไปสู่คำพูด
ให้ระวังคำพูด...เพราะมันจะนำไปสู่การกระทำ
ให้ระวังการกระทำ...เพราะมันจะนำไปสู่นิสัย
? เราจะพยายามมีสติคิดดี เพื่อที่จะได้พูดดี และทำดี จนเป็นนิสัย ?
http://www.thai60.com
By : วรากร
( IP : 203.113.35.xxx )
(Read 693 | Answer 0 2007-03-16 21:36:02 )
|
|
|
|
|
|
|
|
|