คลิกเลือกไปหน้าแรก
ชาวสวน'92เข้าสูระบบ
คลิกดูกำหนดการได้ที่วันที่ในปฏิทิน
ธันวาคม - 2567
พฤ
อา
25
26
27
28
29
30
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1
2
3
4
5
 

@คณะกรรมการชมรม
@ตัวแทน/ผู้ประสานงาน
@วิสัยทัศน์ ค่านิยม ยุทธศาสตร์
@ระเบียบการบริหารงาน
@ระเบียบว่าด้วยเงิน
@รักรุ่นจริงไม่ทิ้งกัน
@บัญชีสถานะการเงิน
@เพลงสวน

คลิกเพื่อเลือกชมและบันทึกข้อความ
คลิกเพื่อดูหรือ post ข่าว
 คลิกเพื่อดูหรือ post จดหมายเวียน
คลิกเพื่อดูหรือ post กำหนดการทำบุญบริจาคโลหิต
คลิกเพื่อดูหรือ post เข้าบอร์ดเพื่อนช่วยเพื่อน
คลิกเพื่อดูหรือ post รายละเอียดธุรกิจของเพื่อน
คลิกเพื่อดูหรือ post คลิปโดนๆของชาวสวน 96
คลิกเพื่อดูหรือ post ภาพกิจกรรมของชาวสวน 96
คลิกเพื่อฝากข่าวสารถึงท่านประธาน
คลิกเพื่อฝากข่าวสารถึง webmaster
คลิกเพื่อดูหรือ postข่าวสารทางวิชาการจากสวน 96
คลิกเพื่อดูหรือ postคำคม,ปรัชญาชีวิต
คลิกเพื่อดูหรือ postเรื่องซุบซิบนินทา
คลิกเพื่อดูหรือ postเรื่องของครอบครัวสวน  96
คลิกเพื่อดูหรือ postเรื่องสันทนาการ

  คลิกเพื่อลิ้งค์ไปสู่หน้าเวปสวนกุหลาบ
  คลิกเพื่อลิ้งค์ไปสู่หน้าเวป OSKNETWORK


หัวข้อ :พี่ทรงกลด OSK91 บันทึก:   [ No. 656 ]  
รายละเอียด :
พี่ทรงกลด OSK91 บันทึก:

ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ผมขึ้นมาเรียนในชั้น ม.ศ. ๒ ปีนี้ ห้องของผมคือ ๒/๖ อยู่ที่ชั้น ๒ ของตึก สามัคยาจารย์ ๔ ชั้น อาจารย์เยาวลักษณ์ ใจสว่าง เป็นอาจารย์ประจำชั้น บรรยากาศทางการเมืองอึมครึม ที่ผ่านมา ผมเคยเห็นภาพของเศรษฐกิจที่ตกต่ำ มีการตั้งเต้นท์ขายสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญ เช่น ข้าวสาร และน้ำตาล ซึ่งผู้ที่เกิดไม่ทันคงนึกภาพไม่ออกที่เห็นประชาชนมายืนเข้าคิวรอซื้อข้าวสาร หรือน้ำตาล การที่สินค้ามีน้อย ทำให้พ่อค้ากักตุนสินค้า ที่เรียกว่า ตลาดมืด

สวนกุหลาบฯ ของเรา เกี่ยวพันกับการเมืองทั้งสองขั้ว คือ ฝ่ายรัฐบาล พันเอก ณรงค์ กิตติขจร OSK67? เป็นทั้งศิษย์เก่า และผู้อุปถัมภ์ หนึ่งในผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังการจัดตั้งและก่อสร้างสมาคมศิษย์เก่า ณ ถนนสามเสนในปัจจุบัน รวมทั้งมีลูกชายเป็นเด็กนักเรียนสวนกุหลาบฯ ดังนั้นเวลาเด็กสวนกุหลาบฯ มีกิจกรรมอะไร ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี อย่างเช่น หากมีการแข่งกีฬาที่สนามศุภชลาศัย เราก็จะเห็นรถรับนักเรียนของกรมการขนส่งทางบก มาจอดรอรับเราเป็นแถวในโรงเรียน ส่วนอีกขั้วก็คือ พี่ๆ ที่อยู่มหาวิทยาลัย เช่น ธีรยุทธ บุญมี OSK83 เป็นต้น

เด็กสวนกุหลาบฯ ถูกปลูกฝังกับการเมืองมาตั้งแต่เริ่มเข้ามาในโรงเรียน โดยผ่านการเลือกตั้งประธานนักเรียน ซึ่งจะได้แก่นักเรียนชั้น ม.ศ. ๔ ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนคนเก่าที่เป็นรุ่นพี่ ม.ศ. ๕ ที่กำลังจะจบ ซึ่งในการเลือกตั้งจะมีการหาเสียง มีนโยบายที่ผู้สมัครเป็นประธานนักเรียนจะต้องพยายามคิดนโยบายขึ้นมาจูงใจผู้ใช้สิทธิ์คือ นักเรียนสวนกุหลาบฯ ทั้งโรงเรียน ในแต่ละระดับชั้นจะมีการเลือกตัวแทนของชั้นแต่ละชั้นเป็นตัวแทน เป็นสภานักเรียนเปรียบเสมือนสภาผู้แทนราษฎร ในส่วนของนโยบายนั้น ท่านอาจารย์ จะให้นักเรียนดูแลกันเองค่อนข้างจะมาก เช่นเรื่องของการดูแลเรื่องสวัสดิการ อาหารการกินต้องมีคุณภาพ ดูแลร้านค้าที่ขายอาหาร ดูแลเรื่องห้องน้ำห้องส้วม ดูแลเรื่องความสะอาดเรียบร้อย ซึ่งตัวแทนของนักเรียนจะเป็นผู้นำเสนอขึ้นไปถึงอาจารย์ที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ความร่วมมือร่วมใจเช่นนี้ ทำให้นักเรียนเห็นว่า เสียงเรียกร้องของเด็กไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่สนใจ ถือได้ว่า การทำงานของกรรมการนักเรียนมีอำนาจพอสมควร ร้านค้าที่ขายอาหารก็ต้องดูแลเรื่องคุณภาพ เพราะหากนักเรียนร้องเรียนขึ้นมา อาจารย์ก็จะโดดลงมาเล่นด้วย ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมเด็กสวนกุหลาบฯ จำนวนมาก จึงปรากฏตัวทำงานด้านการเมืองในแขนงต่างๆ มากมาย สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้อาจารย์กับศิษย์ผูกพันกันอย่างที่ไม่มีในสถาบันการศึกษาแห่งอื่น

สภาวะทางการเมืองในประเทศในช่วงเวลานั้น เริ่มรุนแรงขึ้น จนกระทั่งมีกรณีของการไล่นักศึกษารามคำแหงออก และตามมาด้วยการชุมนุมเรียกร้องของนักศึกษาให้คืนสถานะของนักศึกษารามคำแหง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บรรยากาศในสวนกุหลาบคึกคักขึ้นทันที เริ่มจากการที่นักเรียนรุ่นพี่ต้องการขอหยุดเรียน และพาพวกน้องๆ ไปร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ หลังเลิกแถวตอนเช้า ผมจำได้ว่า หลังการเข้าแถวเคารพธงชาติแล้ว อาจารย์ สุวรรณ จันทร์สม ได้กล่าวหน้าแถวโดยแสดงความเข้าใจสิ่งที่นักเรียนต้องการ วันนี้ครูขอพูดไม่ใช่ในฐานะอาจารย์ใหญ่ แต่เป็นในฐานะของเด็กสวนกุหลาบฯ ด้วยกัน คือสรุปได้ว่า ท่านใช้หลักจิตวิทยาเต็มที่ ไม่มีการใช้อำนาจที่เป็นอาจารย์ข่มขู่บังคับ แต่เป็นการใช้น้ำเย็นเข้าลูบ ขอร้องให้ใจเย็นๆ ท่านเห็นใจนักเรียน และยังกล่าวให้กำลังใจกับพวกเราว่า คราวนี้สวนกุหลาบฯ ของเราถือได้ว่า เป็นผู้นำทั้งสองฝ่าย ฝ่ายนักศึกษาก็คือ ธีรยุทธ บุญมี ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็คือ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร ทำให้ความร้อนก็คลายไปเปราะหนึ่ง การเบี่ยงเบนประเด็นโดยการกล่าวว่า ถึงอย่างไร เด็กสวนกุหลาบฯ ต้องเป็นผู้นำ ถ้าเป็นโจรก็ต้องเป็นระดับหัวหน้า ดังนั้นหากอยากไปร่วม ก็ขอให้ไปหลังเลิกเรียน ผมจำได้ว่า มีพี่บางคน เลือดร้อน อ้างกับอาจารย์ใหญ่ว่า ขอไปตอนเช้านี้เลย เพราะตอนนี้เทพศิรินทร์ เขาไปแล้ว (นึกตอนนี้ก็ขำดีครับ เรื่องหน้าเรื่องตานี่เรื่องใหญ่ จริงๆ แล้วไม่มีอุดมการณ์อะไรหรอกครับ สปิริตซะมากกว่า เพราะสวนกุหลาบฯ นี่ เราถือว่า คู่แข่งสำคัญมีสองโรงเรียน คือ เตรียมอุดม ซึ่งจะหนักทางด้านเรียนแข่งกัน ส่วนเทพศิรินทร์นี่ จะแข่งกันเรื่องอื่น โดยเฉพาะกีฬา ส่วนเพื่อนๆ จตุรมิตร ของเราที่เหลืออีกสองโรงเรียนคือ กรุงเทพครีสเตียน และอัสสัมชัญนั้น เราไม่มีปัญหา เพราะเด็กสวนกุหลาบฯ หลายคนเป็นศิษย์เก่าทั้งสองโรงเรียนมาก่อน เราจึงรู้สึกว่า ทั้งสองโรงเรียนเป็นเพื่อนฝูงของเรา

เย็นวันนั้น พวกเรา เหล่านักเรียน .... สวนกุหลาบฯ ก็ยาตราออกจากประตูด้านสะพานพุทธ เดินแถวเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยมีพวกพี่ๆ คุมไป ผ่านย่านปากคลองตลาด โรงพักพระราชวัง กรมการรักษาดินแดน วัดพระแก้ว สนามหลวง แล้ววกข้ามตัดกลางสนามหลวงเข้าสู่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ สำหรับผม แหม... มันเท่ห์ อย่าบอกใคร โดยเฉพาะเวลาเราเดินข้ามถนน รถจอดมองเราอย่างสงสัยว่า พวกเด็กๆ จะเดินไปไหนกัน ผมว่า มันดูขลังดี เด็กนักเรียนเดินเป็นแถวเป็นระเบียบ ไม่ใช่เดินเป็นกลุ่ม อย่างที่อาจารย์ เฉลิมชัย จิตรกรชื่อดังพูดเสมอๆ ว่า "มันมีพลัง"

พอเราเดินผ่านประตูเข้าสู่รั้วของมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ก็ได้ยินเสียงโฆษกกล่าวผ่านลำโพงออกมาว่า สวนกุหลาบฯ มาแล้ว ขอให้พวกเราปรบมือต้อนรับน้องๆ จากสวนกุหลาบฯ ด้วย แล้วบรรดาผู้ชุมนุมนับพันในนั้นก็ปรบมือต้อนรับพวกเรา ... แหม หัวใจของเด็กตัวเล็กๆ อย่างผมนี่พองโตขึ้นมาเชียว รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศ ที่มีคนอื่นๆ เป็นพันๆ คนให้ความสำคัญ

ขอเล่าถึงบรรยากาศข้างในธรรมศาสตร์ ในวันก่อนที่จะมีการเดินขบวนครั้งสำคัญ ที่นำไปสู่วันสำคัญวันหนี่งในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย คือ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ วันที่พวกเราเดินเข้าธรรมศาสตร์ เป็นวันศุกร์ ผมจำไม่ได้แน่นอนว่า เป็นวันที่เท่าไหร่ แต่ยังไม่ใช่วันที่เดินขบวน เอาที่สนามหลวงก่อนนะครับ คือ จะเห็นรถเมล์ที่มีผู้โดยสารเป็นนักศึกษา-นักเรียนช่างกล มากันเต็มคันรถ ทั้งห้อยทั้งโหน แถมบนหลังคารถยังมีคนนั่งถือธงชาติอยู่บนหลังคาด้วย รถเมล์แบบนี้ทยอยวิ่งมาสู่ธรรมศาสตร์คันแล้วคันเล่า แหม มันยิ่งใหญ่จริงๆ ครับ ปลุกใจให้คึกคัก

ในธรรมศาสตร์ มีนักเรียนนักศึกษานั่งกันเต็ม ทั้งระดับอุดมศึกษา นักเรียนอาชีวะ นักเรียนสายสามัญ พวกเราดูจะเป็นน้องเล็กที่พวกพี่ๆ ต่างเอ็นดู คือ คงไม่มีเด็กนักเรียนต่ำกว่าชั้นมัธยมไปชุมนุมหรอกครับ เวลามีขนมหรือมีอาหาร เราก็จะได้รับการดูแลจากพี่ๆ ที่ไม่เกี่ยงว่า เป็นนักเรียนช่างกล หรือนักศึกษา ซึ่งเวลานั้นชื่อเสียงของเด็กช่างกล ก็จะเป็นนักเลงซะมากกว่า ใครๆ ไม่อยากอยู่ใกล้ เพราะอาจจะเจ็บตัวได้ หากเขาจะยกพวกตีกัน แต่คราวนี้ในธรรมศาสตร์ ทุกคนทุกโรงเรียนร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พวกเราซึ่งเป็นยังเป็นเด็กเล็กๆ ไม่เข้าใจอะไรหรอกครับ ที่มาก็เพราะเพื่อนมา พี่มา เราก็มา เวลาเห็นคุณธีรยุทธ บุญมี ขึ้นไปปราศรัยเราก็อดภูมิใจไม่ได้เพราะนั่นคือ สวนกุหลาบฯ รุ่นพี่ หรืออย่างศันสนีย์ ลิมมานนท์ เอง ก็เป็นพี่สาวของภานุ ลิมมานนท์ เด็กสวนฯ รุ่นเดียวกับผม

ตกเย็น เราก็ทยอยกลับบ้าน เวลานั้นผมย้ายไปอาศัยบ้านน้า อยู่ในซอยพร้อมพงศ์ สุขุมวิท (ตรงข้ามห้าง ดิ เอ็มโพเรียม ปัจจุบันนี้) เช้าวันรุ่งขึ้น เป็นวันเสาร์ ผมต้องไปเรียนพิเศษที่โรงเรียน แต่เช้าวันนั้นพิเศษ ตรงที่ว่า พวกพี่ที่มาเรียน รด. และต้องสอบ รด. ขออนุญาตพวกครูฝึกว่า ขอเลื่อนการสอบ รด. ไปก่อน วันนี้ขอไปชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ ตื้อจนกระทั่งนายทหารที่มาคุมการสอบ ยอมอนุญาตให้ไปชุมนุมได้ แต่ไปไม่ไปคนเดียว พี่ๆ มาเดินตามห้องที่เราเรียนอยู่ขออนุญาตอาจารย์ที่กำลังสอนพิเศษ ขอพาน้องไปชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ด้วย ตกลงพวกเราจึงไม่ต้องเรียนพิเศษ เดินตามพี่ๆ ไปธรรมศาสตร์เป็นคำรบที่สอง

สายวันนั้น ในธรรมศาสตร์บรรยากาศคุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ คงเป็นเพราะช่วงสายไปเที่ยง อากาศยิ่งร้อน ประกอบกับการปราศรัยบนเวทีรุนแรงขึ้น ผมได้ยินเขาบอกว่า เวลา ๑๐ นาฬิกา จะปิดประตูมหาวิทยาลัย พอถึงเที่ยงจะเริ่มเดินขบวนจากธรรมศาสตร์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันนี้พวกช่างกลที่นั่งชุมนุมใกล้ๆ กับกลุ่มของเราเอาหนังสือพิมพ์มาพับเป็นหมวกกระดาษ แล้วแจกให้พวกเราใส่ ดีครับ อบอุ่นดี ลองนึกดูสิครับ เด็กช่างกล แต่ละคนพกฟุตเหล็กไว้ข้างหลัง เหมือนเตรียมไปตีกับใคร แล้วมาพับหมวกกระดาษแจกเด็ก

ใกล้ ๑๐ นาฬิกา ผมจึงรีบออกมาจากธรรมศาสตร์ เพราะกลัวเขาจะปิดประตูแล้วผมจะกลับบ้านพักไม่ได้ เดี๋ยวน้าจะเป็นห่วง เพราะเรามาอาศัยเขาอยู่ ไม่ควรทำตัวเป็นภาระมากไปกว่านี้ จากนั้นผมก็ขึ้นรถเมล์กลับบ้าน มาฟังข่าวต่อที่บ้านน้า การเดินขบวนเริ่มราวๆ เที่ยง ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วต่อมาก็มีการย้ายไปสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า จนกระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงที่หน้าพระตำหนักสวนจิตรลดา (ผมมาทราบจากแหล่งข่าวทางลับที่เชื่อถือได้ว่า เหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นหน้าพระตำหนักสวนจิตรลดานั้น เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เล็กๆ ที่ไม่เป็นเรื่องเป็นราว คือ ขณะที่กลุ่มนักเรียนนักศึกษากำลังตั้งเผชิญหน้ากับตำรวจที่มารักษาการณ์ โดยมีผู้ควบคุมตรงจุดนั้นคือ พลตำรวจโท มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ทั้งสองฝ่ายตั้งเผชิญหน้ากันทั้งคืน จนถึงเช้า โดยขณะนั้นแกนนำการชุมนุมคือ ตัวแทนของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย กับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร กำลังประชุมกันอยู่ ผลการประชุมรู้สึกจะตกลงกันได้แล้ว และกำลังจะสลายการชุมนุม เพื่อไม่ให้การชุมนุมไปวุ่นวายรบกวนเบื้องใต้ยุคลบาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จุดสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ที่กำลังจะคลี่คลายต้องกลายเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจนำมาสู่ความรุนแรงคือ มีทหารที่อยู่ในอาการเมาคนหนึ่งเกิดทำปืนลั่นขึ้นในสนามเสือป่า เท่านั้นเอง ฝ่ายตำรวจที่ไม่รู้ว่า เสียงปืนดังมาจากไหน กับฝ่ายนักเรียนที่ได้ยินเสียงปืนและคิดว่า ฝ่ายทหารใช้กำลังเข้าปราบปรามแล้ว คนที่กำลังชุมนุมอยู่ที่หน้าสวนจิตรลดา จึงเฮละโลเข้าฝ่าวงล้อมที่ตำรวจปิดทางอยู่เพื่อจะหาทางหนีกลับบ้าน ฝ่ายตำรวจก็นึกว่า นักศึกษามีปืนจึงใช้กำลังเข้าตีกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อใช้กำลังเข้าสลายม๊อบ แล้วทุกอย่างก็จบลงแบบโศกนาฏกรรม ... เหตุการณ์แบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกในช่วงของพฤษภาทมิฬ คือ การที่ฝ่ายรัฐใช้กำลังเข้าปิดล้อมผู้ชุมนุมประท้วง ผมได้ทราบจากเพื่อนฝูงหลายคนที่อยู่ในที่ชุมนุมว่า ไม่มีใครอยากเจอเหตุการณ์รุนแรงหรอก ทุกคนต่างอยากกลับบ้าน ชุมนุมข้ามวันข้ามคืนอดหลับอดนอน ก็อยากกลับบ้าน แต่มันกลับไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลเล่นปิดล้อมหมด ผมว่า ถ้ามีการชุมนุม อยากชุมนุมก็ทำไป แต่ควรใช้วิธีปิดล้อม ตัดการส่งกำลังบำรุงอาหารการกินดีกว่า ปล่อยให้อดข้าวแต่อย่าให้อดน้ำเพราะดูมันจะไร้มนุษยธรรมกันเกินไป เรื่องห้องส้วมต้องอำนวยความสะดวกให้ดี ไม่ให้อาบน้ำก็พอ คำโบราณที่ว่า จะล้อมก็ต้องเปิดทางหนีให้ข้าศึกไว้บ้าง มิฉะนั้นเขาจะสู้อย่างหมาจนตรอก เป็นความจริง อย่าคิดว่า ต้องจับให้หมด แล้วจะเข็ดนั้นไม่จริง มันไม่เข็ดหรอก มีแต่ว่า สร้างบาดแผลในใจ กลายเป็นว่า วันนี้ข้าแพ้ ถ้ามีโอกาสข้าจะเอาคืน

สำหรับช่วงชีวิตของนักเรียนชั้น ม.ศ. ๒ ของผม นอกจากเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา.แล้ว ผมอยากจะบันทึกมุมอื่นๆ ที่ผ่านมาในชีวิตบ้าง สำหรับนักเรียน ม.ศ.๒, ปีนี้ก็ถือว่า มีความเป็นสวนกุหลาบเต็มตัวแล้ว ความที่เริ่มคุ้นกับโรงเรียนทำให้เราค่อนข้างจะซ่า !!! ขึ้นมาพอตัว

ช่วงชีวิตของเด็ก ม.ศ. ๒ ผมขอเล่าเฉพาะห้อง ๒/๖

(ยังมีต่อครับ)

..................................

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

วันสมานมิตรของข้าพเจ้า [ทรงกลด พิชัยกุล OSK91 ส.ก. ๑๘๘๒๓] --> http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=2339

วงนักร้องประสานเสียงในอดีต ของสวนกุหลาบวิทยาลัย --> http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=2179

บันทึกนักเรียนสวนกุหลาบ ๒๕๑๕-๒๕๑๙ ตอนที่ ๑ --> http://www.osknetwork.com/modules.php?name=News&file=article&sid=2181

By : ( IP : ...xxx ) (Read 540 | Answer 0 2008-03-30 13:44:41 )
 

จำนวนผู้เข้าชมเว็บทั้งหมด 230662 คน

ชมรมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่นที่ 96 100/397-398 หมู่บ้านมณียา ถ.รัตนาธิเบศธ์ ซ.ท่าอิฐ ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ติดต่อท่านประธาน > kematat.p@hotmail.com ติดต่อเว็บมาสเตอร์ >webmaster.osk@gmail.com
Produced By Permpoon C. and Powered by: StartUp Design and Network Co.,Ltd.