ความคิดเห็นที่1 |
|
ทำความเข้าใจกับธรรมชาติของการเสพติด
โดย... พลอากาศตรี บุญเลิศ จุลเกียรติ
ทำไมมนุษย์ส่วนหนึ่งจึงมีแนวโน้มที่จะพึ่งยาเสพติด ?
เพราะแก่นของชีวิตคือทุกข์
และมนุษย์ส่วนหนึ่งหาทางดับทุกข์อย่างถูกวิธีไม่ได้
ทำไมแก่นของชีวิตคือทุกข์ ?
เพราะสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ถูกธรรมชาติกำหนดให้ทำหน้าที่ ที่สำคัญที่สุดที่เราถูกธรรมชาติกำหนดหรือโปรแกรมให้เราดิ้นรนพยายามทำก่อนจะจากโลกนี้ไปตามครรลองของธรรมชาติ
ก็คือ ?การดำรงเผ่าพันธุ์?
การดำรงเผ่าพันธุ์เกี่ยวข้องกับความทุกข์อย่างไร ?
เมื่อเราลืมตาออกมาดูโลก การที่เราจะทำหน้าที่ดำรงเผ่าพันธุ์ได้ เราต้องกิน ต้องนอน ต้องปกป้องอันตราย จนมีชีวิตรอดมาถึงวัยแตกเนื้อหนุ่มสาว พร้อมที่จะทำหน้าที่ดำรงเผ่าพันธุ์ได้ ก็มีการเสพกาม
เราจึงต้องมี ความหิว ความง่วง ความกำหนัด เป็นทุกข์ทางกายที่จะต้องปลดเปลื้องด้วยการกิน การนอน และการเสพกาม
ธรรมชาติต้องการให้เราทำหน้าที่ดำรงเผ่าพันธุ์ จึงกำหนดให้เรามีความติดยึดในความเป็นตัวกูและของกู ตั้งแต่เกิด เพราะถ้าเราไม่ถูกสร้างมาพร้อมกับความติดยึดในความเป็นตัวกูและของกู เราก็อาจไม่อยากมีลูกกู และหลานกู ให้สืบต่อความหิว ความง่วง ความกำหนัดและการต่อสู้ดิ้นรนกับปัญหาสารพัดที่มีอยู่ในโลกนี้ต่อไป
และความติดยึดนี่แหละเป็นตัวทำให้เกิดความทุกข์ใจ
ยกตัวอย่าง
ถ้าเราถูกด่าว่า โดยบุคคลที่เรารักที่สุด กับถูกด่าว่าโดยคนวิกลจริต ด้วยคำพูด น้ำเสียง และกิริยาท่าทางเหมือนกันทุกอย่าง ความทุกข์ของเราจะแตกต่างกันมากในสองกรณี เนื่องจากความติดยึดต่างกัน
ถ้าเราหิวข้าว แต่ไม่ได้กิน เพราะติดอยู่ในบ้านที่น้ำท่วมออกไปไหนไม่ได้ กำลังรอคนมาช่วย กับหิวข้าวแต่ไม่ได้กินเพราะถูกกลั่นแกล้ง กักขังไว้ทรมานจากศัตรูของเรา ความทุกข์ที่เกิดขึ้นย่อมต่างกัน เพราะความติดยึดต่างกัน
ถ้าเราไม่ติดยึดว่าทารกน้อยคนนี้เป็นลูกเราของเรา เราอาจจะเบื่อหน่ายที่จะฟูมฟักเลี้ยงดู แต่ความติดยึดในความเป็นตัวเรา ของเรา ลูกเรา จะเป็นแรงผลักดันให้เราทำหน้าที่อย่างเต็มที่ อย่างมีความสุข แต่ถ้าลูกเรามีอันเป็นไป ความติดยึดก็จะย้อนมาทำให้เราเกิดความทุกข์ (ใจ) แสนสาหัส
การที่เราถูกธรรมชาติกำหนดหรือโปรแกรมให้ทำหน้าที่ดำรงเผ่าพันธุ์ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องพบกับความ ?ทุกข์กาย? และ ?ทุกข์ใจ? ด้วยประการฉะนี้
ตกลงความติดยึดในความเป็นตัวกูและของกู ดีหรือไม่ดี ?
ถ้าจะตอบกันในระดับปุถุชนอย่างเรา ก็ต้องตอบว่า มันมีทั้งดี และไม่ดี เพราะมันทำให้เกิดการสร้างสรร จรรโลงพัฒนา และปิติปลาบปลื้มได้ แต่ในขณะเดียวกันมันสามารถทำให้เกิดความเคียดแค้น ชิงชัง ริษยา ทำลายล้าง และหดหู่ห่อเหี่ยว จนไม่อยากมีชิวิตอยู่ต่อไปก็ได้
แล้วเราควรจะทำอย่างไรกับความติดยึดในความเป็นตัวกู และของกู ที่ธรรมชาติกำหนด ยัดเยียด หรือโปรแกรมให้เรามีมาตั้งแต่เกิด ?
ก็เลือกเอาก็แล้วกัน ใครก็ตามที่รู้แจ้งชัดเจนว่าแก่นของชีวิตเป็นทุกข์ ไม่อยากจะเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร มุ่งที่จะเดินไปสู่กระแสพระนิพพาน ก็จงใช้ความติดยึดที่จะมุ่งมั่นหาความหลุดพ้น เป็นสะพานนำไปสู่ความเพียรในการปฏิบัติให้เกิดปัญญาจนละความติดยึดอย่างสิ้นเชิงได้ ก็ขออนุโมทนาสาธุด้วย
ใครที่ยังเบื่อๆ อยากๆ รู้ตัวว่าชาตินี้คงจะไม่มีวันหลุดออกจากบ่วงแห่งโลกียวิถีนี้ไปได้ เพราะอาหารอร่อยๆ ยังมีให้รอชิมอีกเยอะ ที่น่าท่องเที่ยวอีกหลายแห่งในโลกนี้ยังน่าไปเยือนความรักความอบอุ่นซึ่งเรามีให้กันในครอบครัวก็เป็นความงดงามของชีวิต เพลงประเภทต่างๆ ก็ยังไพเราะเสนาะหู ผลงานทางศิลปกรรมอีกหลายหลากชิ้นยังเต็มคุณค่าของความสุนทรีและเจ้าเพศรสนี่ก็ไม่รู้เป็นอย่างไร เสพเท่าไรก็ไม่ค่อยจะเบื่อ ก็เห็นทีจะต้องอยู่ในโลกนี้ด้วยความติดยึดต่อไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับเราว่า
เราจะอยู่ในโลกนี้ด้วยความติดยึดแบบโง่ งี่เง่า
หรือจะอยู่ในโลกนี้ด้วยความติดยึดแบบรู้เท่าทัน
การติดยึดแบบรู้เท่าทัน มันเป็นอย่างไร ?
การติดยึดแบบรู้เท่าทัน ก็คือ ถ้าการติดยึดอะไร ติดแล้วเกิดการสร้างสรร จรรโลงพัฒนา ปิติ อิ่มเอมใจ ก็ขอให้ติดไป แต่อย่าไปหลงใหลได้ปลื้มว่า ความสุข ความสำเร็จ ความปิติที่เราสัมผัสอยู่ขณะนี้จะคงอยู่กับเราตลอดไป ถ้าเกิดความล้มเหลวหรือสูญเสีย ก็ขอให้ปล่อยความติดยึด เพื่อเราจะได้ไม่จมอยู่ในทุกข์ที่เกิดจากความติดยึด ว่าเราเสียของที่เรารักที่สุดไป หรือตัวเราประสบความล้มเหลว
แล้วทำอย่างไร ปุถุชนอย่างเราจึงจะเลือกที่จะติดยึดเพื่อให้เกิดการสร้างสรรจรรโลง พัฒนา หรือปิติอิ่มเอมใจ และเลือกที่จะไม่ติดยึด เพื่อจะได้ไม่ต้องทุกข์กับความเสียใจ ผิดพลาด หรือสูญเสียได้ ?
ไม่ยาก หรือเหนือบ่ากว่าแรงปุถุชนอย่างเราเลย
คำตอบก็คือ... เรามีหน้าที่อะไรต้องพยายามทำให้ดีที่สุด (โดยไม่หลอกตัวเองว่า ?ฉันทำดีที่สุดแล้ว? เหมือนคนอีกหลายๆ คนที่ยังชอบพูดคำนี้อยู่ โดยไม่ยอมรับว่า จริงๆ แล้วจะให้ดีกว่านี้ก็ยังพอได้อยู่ แล้วอย่างติดยึดแบบโง่ๆ
...นั่นก็คือ...
1. อะไรชั่ว (ทำให้ตนเองและคนอื่นเดือดร้อน และผิดกฎหมาย) อย่าทำ
2. อะไรดี รีบทำ (อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะเราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะยังมีโอกาสได้ทำดีหรือไม่)
3. อะไรติดยึดแล้วมีความสุขก็ขอให้ติดไป อะไรติดยึดแล้วทุกข์ ก็อย่าไปติดมัน
การลดความติดยึด
ถ้าเรานับถือพระผู้เป็นเจ้า จงลดความติดยึด โดยย้ายความติดยึดในตัวเรา ไปฝากไว้กับองค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยศรัทธาที่มั่นคง ความติดยึดในตัวเราก็จะลดลงเพราะเรามอบทุกอย่างให้อยู่ในพระประสงค์ของพระองค์แล้ว ความทุกข์ที่เกิดจากความติดยึดในตัวเราก็จะน้อยลง
ถ้าเรานับถือพระพุทธเจ้า จงลดความติดยึดด้วยการพัฒนาปัญญา ให้เห็นความเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (ทนสภาพเดิมไม่ได้) และอนัตตา (ไม่มีอะไรมีตัวตนเป็นของตนเองที่แท้จริง) เมื่อปัญญาเกิด ความติดยึดก็จะลดน้อยลง เมื่อความติดยึดลด ความทุกข์จากความติดยึดก็จะลดน้อยลงด้วย ปัญญายิ่งมาก ทุกข์จะยิ่งน้อย
แล้วจะลดความติดยึดด้วยศรัทธา หรือปัญญา อย่างไหนดีกว่ากันและจะต้องเปลี่ยนศาสนาไหม ?
ไม่ต้องเปลี่ยนศาสนา ไม่มีวันที่โลกนี้จะมีแค่ศาสนาเดียว แค่เฉพาะศาสนาใหญ่ๆ ในโลก ก็ไม่มีศาสนาไหนที่มีแค่หนึ่งความเชื่อเป็นนิกายเดียวอยู่แล้ว ผู้นับถือพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน หรือนับถือพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ยังมีแนวคิดบางอย่างต่างกัน เพราะความหลากหลายเป็นธรรมดาของธรรมชาติ
ใครนับถือศาสนาอะไรก็ขอให้ศึกษาปฏิบัติให้เข้าถึงแก่นของศาสนาของตัวเอง แค่นี้ก็พอแล้ว
แล้วผู้นับถือพระผู้เป็นเจ้าจะศรัทธาในพระองค์อย่างมั่นคงได้อย่างไร ?
เราจะศรัทธาอย่างมั่นคงได้ต้องเชื่อมั่นในความเป็นพระผู้สร้างผู้ยิ่งใหญ่ของพระองค์ วิธีที่จะพัฒนาความศรัทธาก็คือย้อนกลับมามองตัวเรา ร่างกายมนุษย์เต็มไปด้วยระบบซ้อนระบบ สุดยอดแห่งความสลับซับซ้อนวิจิตรพิสดาร จะไม่น่าจะเกิดจากความบังเอิญของการวิวัฒนาการ น่าจะเป็นการสร้างด้วยความจงใจอย่างลงตัว และถ้าจะมีใครสร้างขึ้นมาได้ขนาดนี้ องค์พระผู้สร้างที่ยิ่งใหญ่นี้ คือองค์พระผู้เป็นเจ้านั่นเอง
ถ้าเราต้องการความสุขนิรันดร พระองค์จะทรงประทานให้ในวันพิพากษาครั้งสุดท้ายเพียงแต่ ขอให้เราตั้งมั่นอยู่ในสามข้อนี้ นั่นคือ.-
1. จงศรัทธายึดมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้าแต่ผู้เดียว
2. ละความชั่วทั้งปวง
3. ทำความดีในทุกโอกาสที่เหมาะสม
ผู้นับถือพระพุทธเจ้าจะพัฒนาปัญญาได้อย่างไร ?
?ปัญญา? ที่จะนำมาใช้ลดความติดยึดได้ คือปัญญาแห่งความเข้าถึง ลักษณะสามประการซึ่งมีอยู่ในทุกๆ อย่างในธรรมชาติ ลักษณะสามประการ (ไตรลักษณ์) ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
เรารู้ว่าโลกนี้ มีได้ก็มีเสีย มีพบก็มีพราก ถ้าลูกเพื่อนตาย เราปลอบเขาได้ แต่ถ้าลูกเราตายเราทำใจไม่ได้ นี่คือ ความแตกต่างระหว่าง ความรู้ กับ ปัญญา ความรู้เราสอนคนอื่น ปลอบคนอื่นได้ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์กับตัวเองเราทำใจไม่ได้ เพราะเรายังติดยึดอยู่ แต่ถ้ามีปัญญา เราปลอบคนอื่นก็ได้ และตัวเองเวลาเกิดเหตุการณ์ก็ทำใจได้ เพราะปัญญาที่มีอยู่มันช่วยลดความติดยึดอยู่แล้ว (ความรู้ลดความติดยึดไม่ได้ ยิ่งรู้มากบางทีก็ติดยึดมาก)
การพัฒนาปัญญาสำหรับมนุษย์ทำได้อย่างน้อย สามทาง
1. การฟัง และการอ่าน ข้อธรรมะด้วยสมาธิ
2. การพิจารณาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเราและรอบตัวเราด้วยสติอย่างสม่ำเสมอ
3. การทำจิตใจให้สงบด้วยองค์ภาวนา เริ่มจากการทำจิตให้สงบ เกิดเป็นพลัง แล้วพิจารณาข้อธรรมะแห่งความไม่เที่ยงของทุกสรรพสิ่ง ในขณะที่จิตมีพลังเสริมอยู่ จนปรับความรู้ที่มีอยู่ให้เป็นความรู้แจ้ง คือตัวปัญญา ถึงขั้นลดความติดยึดได้
ถามตอบกันมาสิบข้อแล้ว แล้วมันเกี่ยวอะไรกับคนติดยา ติดเหล้าด้วย ?
เกี่ยวโดยตรงเลย......
เพราะคนที่ติดยาเสพติด และติดสุรา คือคนที่มีความทุกข์แล้ว ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร และความทุกข์ที่เขาเผชิญอยู่ คือความทุกข์ใจที่เกิดจากความติดยึดในความเป็นตัวกู ของกู นั่นเอง
P ทำราชการความสามารถสู้เขาไม่ได้ หรือประจบคนไม่เป็น ถูกเพื่อนรุ่นเดียวกันแซงไปหลายช่วงตัว น้อยใจรับความจริงไม่ได้ กินเหล้าดีกว่า จะได้ไม่ต้องคิดอะไรมาก
P พ่อติดการพนัน แม่ขี้บ่น อยู่บ้านไม่มีความสุข ทำไมต้องมีพ่อมีแม่แบบนี้ แต่พอทดลองเสพยา เมื่อยาเข้าไปในตัว มันหายน้อยใจ หายเสียใจ เคลิบเคลิ้มสบายๆ พึ่งยาดีกว่า
สรุปก็คือ มนุษย์จำนวนหนึ่งเมื่อเกิดความทุกข์ใจ หาทางออกไม่ได้จึงต้องดิ้นรน แสวงหา และในโลกนี้มีทั้งทางออกที่ถูกต้อง และทางออกผิดๆ รอให้เลือกอยู่ ทางออกผิดๆ ที่เลือกใช้กันบ่อยก็คือ การใช้เหล้า และยาเสพติดมาดับทุกข์ใจนั่นเอง
แล้วทำไมเหล้าและยาเสพย์ติดชนิดต่างๆ จึงใช้ดับทุกข์ใจได้ ?
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ที่ว่าดับได้นั้น เป็นการดับแค่ชั่วคราวเท่านั้น ยาหมดฤทธิ์แล้วก็จะกลับมาทุกข์ใหม่ และอาจจะทุกข์มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะการเสพยา และสุรา ทำให้ยิ่งทับถมปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและครอบครัวเพิ่มมากขึ้น
แต่ที่คนส่วนหนึ่งเลือกใช้เป็นเพราะ เมื่อเหล้าและยาเสพติดเข้าไปในร่างกายถึงสมองแล้ว มันก็จะไปลดความติดยึดลงชั่วคราวจากกระบวนการทางเคมีที่สลับซับซ้อน ทำให้ความทุกข์ใจที่มีอยู่ดูเหมือนจะหมดไป ซึ่งว่าไปแล้ว เป็นการง่ายมากกว่าการมานั่งพัฒนาปัญญา หรือศรัทธา เพื่อความติดยึดเป็นไหนๆ
ทำไมแต่ละคนจึงมีแนวโน้มที่จะดื่มเหล้าหรือเสพยาไม่เหมือนกัน และเมื่อดื่มหรือเสพแล้ว ทำไมจึงมีโอกาสที่จะติดไม่เท่ากัน ?
ผู้ที่มีแนวโน้มที่จะติดสิ่งเสพติด
- ผู้ที่มีบุคลิกภาพอ่อนไหวหรืออ่อนแอ และมีปัญหาความกดดันทางจิตใจ
- ผู้ที่มีสภาพร่างกายที่เมื่อรับสารเสพติดแล้ว เกิดอาการผ่อนคลายจากความกดดันที่มีอยู่ หรือเกิดมีอารมณ์คล้ายมีความสุข (บางคนโชคดีที่สารเสพติดบางอย่างทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนา ทำให้ไม่อยากใช้สารเสพติดนั้น)
- ผู้ที่มีโอกาสที่จะได้มาซึ่งสิ่งเสพติด
ผู้ใดก็ตามที่มีองค์ประกอบครบสามข้อดังกล่าว จะมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้เสพติดได้
พื้นอุปนิสัย พื้นฐานครอบครัว พื้นฐานทางการศึกษา ลักษณะของปัญหาที่มีอยู่ ฐานะในสังคม การตอบรับสิ่งเสพติดของร่างกาย เป็นปัจจัย ทำให้คนเรามีโอกาสที่จะติดสิ่งเสพติดได้ไม่เท่ากัน
ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากการเป็นทาสของสุรา ยาเสพติดได้ ?
ที่ควรทำที่สุดคือ การป้องกัน
แต่ถ้ามีการเสพติดแล้ว การปรับปรุงสภาพแวดล้อม ทั้งทางครอบครัวและสังคมให้ดีขึ้น การให้กำลังใจ มอบความรักและความอบอุ่น มีความจำเป็นมาก แต่อาจไม่ทำให้เกิดการหายขาดได้ เพราะถ้าเกิดปัญหาใหม่ๆ คนให้กำลังใจต้องจากไป หรือเกิดความกดดันทางสังคมในรูปแบบอื่น ก็จะมีการกลับเข้าไปเสพได้
ยาที่ใช้รักษาที่ดีที่สุดก็คือ ศรัทธา และ ปัญญา นั่นเอง
เราน่าจะมีแนวทางในการป้องกันปัญหาติดสุราและยาเสพย์ติดอย่างไร ?
1. ส่งเสริมให้มีการสร้างความรักและความอบอุ่นในสถาบันครอบครัว
2. ให้ครูและผู้นำชุมชนตระหนักถึงธรรมชาติของการเสพติด เพื่อการปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้อง
3. จัดการกับขบวนการค้ายาเสพติดอย่างเด็ดขาด สำหรับสุราให้มีมาตรการในการควบคุมการผลิต การนำเข้า และมาตรการทางภาษี เพื่อลดประมาณการดื่ม
4. สำหรับสุรา ต้องมีมาตรการในการจัดจำหน่าย เวลาและสถานที่ของการจำหน่ายสุรา
5. สำหรับสุรา ต้องมีมาตรการในการควบคุมการเสพ การกำหนดอายุทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อ และผู้เสพ
6. มีมาตรการทางกฎหมายที่เคร่งครัด สำหรับผู้ขับขี่ยานพาหนะกับการดื่มสุราและเสพยาเสพติด
การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุราและสิ่งเสพติดควรมีแนวทางอย่างไร ?
1. มีการฟื้นฟูควบคู่กันไปทั้งสภาพร่างกาย และจิตใจ
2. การฟื้นฟูสภาวะจิตใจ ต้องไม่ทำแบบผิวเผิน ในกระบวนการฟื้นฟูต้องมุ่งเน้นให้ผู้รับการบำบัดเข้าถึง ศรัทธา อย่างมั่นคง ถ้าพื้นความเชื่อของผู้รับการบำบัด ยังเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า สำหรับผู้ที่นับถือพุทธศาสนา หรือผู้ที่ไม่แน่ใจว่า ตนเองนับถือศาสนาอะไร กระบวนการฟื้นฟูทางจิตจนถึงขั้นเกิด ปัญญา คือคำตอบ
3. กระบวนการสร้างปัญญา ควรจะต้องมีรูปแบบที่เป็นสากล กระชับ และวัดผลได้
4. กระบวนการบำบัดฟื้นฟู ไม่ใช่กระบวนการให้ความรู้ แต่ต้องเป็นกระบวนการให้ความรักแท้ ซึ่งประกอบด้วย เมตตา + ปัญญา
By : 19725
( 2008-03-30 13:44:10 )
|
|
|
|
|
ความคิดเห็นที่2 |
|
วินัย ? ฐานรากที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์
โดย... พลอากาศตรี บุญเลิศ จุลเกียรติ
วินัย เป็นพื้นฐานของการศึกษา
เป็นพื้นฐานของการพัฒนา
เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต
การศึกษา
ระบบการศึกษาในปัจจุบันกำลังหลงทาง เนื่องจากเรามุ่งเน้นที่ความรู้มากเกินไป ความรู้ไม่ใช่เครื่องมือที่จะใช้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ขณะนี้โลกเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารและความรู้ แต่ปัญหากลับยิ่งพอกพูน คนจบปริญญาเอกยังอาจฆ่าตัวตาย และคนจบปริญญาโทยังอาจทุจริตคอร์รัปชัน
ระบบการศึกษาที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของมนุษยชาติอย่างยั่งยืนได้ต้องเป็นระบบการศึกษาที่นำไปสู่ความรู้ และ ?ปัญญา? น่าเสียดายมาก ที่ระบบการศึกษาของเรามองข้าม หลักไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิและปัญญา การเรียนรู้ในบรรยากาศที่ขาดสมาธิ จะได้แค่ข้อมูลและความรู้ ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้รับฟัง (สุตมยปัญญา) จะเกิดได้ในบรรยากาศที่มีสมาธิแต่บรรยากาศของการเรียนรู้จะเกิดสมาธิไม่ได้ ถ้าขาดศีลหรือวินัย
เกือบทุกท่านคงยอมรับว่าขณะนี้สังคมไทยยังเป็นสังคมที่พร่องวินัย กรุณามองกลับไปดูบรรยากาศในทุกระดับชั้นเรียนที่เราเคยผ่านมาว่า มีการเน้นย้ำเรื่องวินัยมากน้อยเพียงไร เยาวชนของเราเห็นความสำคัญของการตรงต่อเวลาแค่ไหน เขายังทิ้งขยะผิดที่หรือเปล่า และในชั้นเรียนยังมีเสียงโทรศัพท์มือถือ การพูดคุยกันตามอำเภอใจ การเดินเข้าออกเปะปะ และการทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนในวิชานั้นหรือไม่
ปัญญาที่แก้ปัญหามนุษย์ได้คือ ?ปัญญาแห่งการรู้จักตัวเองและรู้เท่าทันธรรมชาติ? ซึ่งสามารถสอนในชั้นเรียนได้ ขึ้นอยู่กับผู้ถ่ายทอดเนื้อหา วิธีการถ่ายทอด และขึ้นอยู่กับผู้รับการถ่ายทอด บทความนี้เน้นที่ผู้รับถ่ายทอดว่า จะต้องได้รับการปลูกฝังด้านวินัย (ศีล) เพื่อให้เกิดความเตรียมพร้อม (สมาธิ) ที่จะพัฒนาให้เกิด ?ปัญญา? ท่านที่สนใจเรื่องแนวทางการถ่ายทอด ขอความกรุณาหาข้อมูลได้จากบทความเรื่อง ?ทางสู่สังคมแห่งปัญญา?
การพัฒนา
การพัฒนาประเทศจะไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ ถ้าเราไม่เริ่มต้นที่วินัย เพราะวินัยเป็นพื้นฐานของความรับผิดชอบ และวินัยกับความรับผิดชอบ จะเป็นพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต
เป็นไปไม่ได้ครับ ที่เราจะพัฒนาประเทศไปสู่ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ถ้ายังมีการทุจริตคอร์รัปชันในระดับนี้อยู่ในสังคมไทย การบริหารงานในทุกหน่วยงาน มีการตื่นตัวเรื่องการสร้าง การกำกับ และตรวจสอบด้วยระบบ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่า หลายหน่วยงานที่นำระบบการบริหารจัดการมาปฏิบัติ ต้องเปลี่ยนระบบไปแล้วกี่ระบบ ทั้งๆ ที่ทุกระบบการบริหารถูกวางแผนค้นคิดมาแล้วอย่างดี แต่เมื่อนำมาใช้แล้วไม่ได้ผล ไม่กี่ปีก็ต้องเปลี่ยนระบบใหม่ เพราะคิดว่าน่าจะเป็นระบบที่ดีกว่า
ถ้าจะเปรียบการทำงานด้วยระบบเหมือนการปั้น บุคลากรในหน่วยงานก็จะเปรียบได้กับวัสดุที่ใช้ปั้น การปั้นจะดีวิเศษอย่างไร ถ้าวัสดุที่ใช้ปั้นยังเป็นเลนเละๆ ปั้นอย่างไรก็จะไม่ได้รูปทรงที่ต้องการอย่างถาวร ที่ผ่านมาเรามัวหลงไปเปลี่ยนวิธีปั้น คือการเปลี่ยนระบบบริหารโดยลืมนึกถึงหรือมองข้ามความจริงว่า สาเหตุของความไม่สำเร็จ เกิดจากวัสดุที่ใช้นั้น ยังไม่ใช่วัสดุพร้อมปั้นต่างหาก พื้นฐานของการพัฒนาการบริหาร น่าจะเป็นการเตรียมวัสดุที่ใช้ปั้นให้พร้อม
การเตรียมวัสดุที่ใช้ปั้น ให้เป็นวัสดุพร้อมปั้นได้ จำเป็นต้องเติม ?สาร? หรือองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดลงไป และองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดที่จะต้องมีในวัสดุ หรือบุคลากรขององค์กร ก็คือ ?วินัย? นั่นเอง
ถ้าไม่เริ่มสร้างองค์กรที่มีวินัย กี่ระบบการบริหารก็คงนำมาใช้ไม่ได้ผล กรุณาอย่ามัวหลงเปลี่ยนหรือค้นหาระบบใหม่ๆ กลับมาเริ่มที่การปลูกฝังวินัยก่อนดีกว่า และถ้าจะมาเริ่มกันตอนโตแล้วจะสายเกินไปไหม? คำตอบคือ ไม่สายครับ ดีกว่าไม่เริ่มเลยแน่ๆ แต่ก็แน่นอนครับ ถ้าเริ่มได้ตั้งแต่เด็กน่าจะดีที่สุด เพราะมันจะสามารถหยั่งรากแก้วเป็นค่านิยมที่ไม่สั่นคลอน ถ้ามาเริ่มตอนอายุมาก อาจจะได้แค่รากแขนง ซึ่งก็ยังดีกว่าไม่มีรากยึด
ถ้ามาเริ่มเอาตอนโต แล้วมีการเอากฎระเบียบมาบังคับใช้อย่างจริงจังร่วมด้วย ก็พอจะหวังได้ว่าน่าจะไปรอดครับ
การดำเนินชีวิต
แน่นอนครับ ทุกคนอยากดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข แต่ลองคิดดูนะครับ ถ้าเกิดรถติดอยู่และทุกคนต่างก็อยากรีบ แต่รถที่มาทีหลังใช้ไหล่ทางแทรกเข้ามาเพื่อจะได้ไปก่อน ในขณะที่รถที่อยู่ในช่องทางปรกติกับถูกเอาเปรียบจากคนหน้าด้านที่ขาดวินัย การดำเนินชีวิตของท่านจะมีความสุขไหมครับ
เคยมีผู้มีประสบการณ์รถติดบนถนนใหญ่ระหว่างรัฐในประเทศออสเตรเลียเล่าให้ฟังว่า ขณะรอการขับเคลื่อนแบบสลับคันระหว่างรถหลายช่องทางที่ถูกเบียดให้เหลือช่องทางเดียวจากอุบัติเหตุอยู่ประมาณเกือบสองชั่วโมง สังเกตเห็นรถที่เปิดเลนวิ่งบนไหล่ทางเพียงไม่กี่คัน และทุกคันล้วนแล้วแต่เป็นรถตำรวจหรือไม่ก็รถพยาบาลทั้งสิ้น รถทั่วไปจะรอสลับคันเพื่อผ่านคอขวด ตามกฎ ?มาก่อนไปก่อน? ไม่ใช่ ?มาทีหลัง หน้าด้าน ได้ไปก่อน? อย่างที่เราเห็นๆ กัน
ลองดูสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว กับประเทศที่ด้อยหรือกำลังพัฒนา จะพบว่าต่างกันมาก การขาดวินัยเป็นสาเหตุสำคัญข้อหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ
ท่านเคยไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลแล้วต้องนั่งรอหมอนานนับชั่วโมงหรือไม่ และเคยมีประสบการณ์ที่หมอหรือพยาบาล มีพฤติกรรมหรือพูดจาทำให้ท่านไม่พอใจหรือไม่ กรุณาอย่าเพิ่งโทษหมอพยาบาลอย่างเดียวนะครับ เพราะขณะนี้ไม่ใช่เฉพาะหมอหรือพยาบาลที่มีปัญหา ตำรวจ ทหาร ทนายความ ครู พระ และช่างซ่อมรถ ก็มีปัญหาทุกวงการ เพราะผู้ที่จะมาเรียนเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นตำรวจ หรือบวชเป็นพระก็คือลูกชาวบ้านนั่นเอง ถ้าลูกชาวบ้านเข้าเรียนสาย ทิ้งขยะเปะปะและนั่งคุยกันในห้องเรียนได้ จบเป็นหมอ ก็ออกตรวจสายได้ จบเป็นพยาบาลก็อาจเย้าหยอกกันเองขณะดูแลคนไข้หนักได้
ถ้าเราไม่ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสรรสังคมให้มีวินัย เราก็คงจะต้องทนดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการเอาเปรียบคดโกง เสี่ยงต่ออุบัติเหตุและสังคมที่เป็นทาสของวัตถุกันต่อไป
วินัยไม่ได้เริ่มที่บ้าน หรือโรงเรียน วินัยเริ่มที่ตัวเราเอง และเริ่มได้ทันที ครับผม
By : 19725
( 2008-03-30 13:44:10 )
|
|
|
|
|