|
|
|
หัวข้อ :สุนทรภู่ เกิดวังหลัง ผู้ดีบางกอก มีวิชารู้เท่าทันโลกและชีวิต [ No. 827 ] |
|
รายละเอียด :
สุนทรภู่มหากวีกระฎุมพี เกิดวังหลัง ผู้ดีบางกอก มีวิชารู้เท่าทันโลกและชีวิต
ตัดทอนจากบทสารคดีโทรทัศน์ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ (จากหนังสือสุนทรภู่ เกิดวังหลัง ผู้ดี "บางกอก" มหากวีกระฎุมพี มีวิชารู้เท่าทันโลก สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2547) จะออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ NBT กรมประชาสัมพันธ์ ในรายการกรองสถานการณ์ วันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2551 เวลา 23.00-23.45 น.
สุนทรภู่ที่คนทั่วไปรู้จัก หรือถูกทำให้รู้จัก คือ เกิดบ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง แล้วบอกอีกว่า เป็นอาลักษณ์ ขี้เมา เจ้าชู้ อยู่อย่างไพร่ ไร้เคหา รัชกาลที่ 3 ไม่โปรด เลยต้องออกบวชหนีราชภัย
แต่สุนทรภู่ที่มีพยานหลักฐานจากงานกวีนิพนธ์ที่ท่านแต่งไว้เอง ล้วนตรงข้ามกับที่คนอื่นรู้จัก คือ สุนทรภู่ เกิดในวังหลังปากคลองบางกอกน้อย ในตระกูลผู้ดีบางกอก เป็นมหากวีกระฎุมพี มีวิชารู้เท่าทันโลกและชีวิต เป็นนักปราชญ์ประจำราชสำนักของรัชกาลที่ 2 เลื่อมใสนโยบายเศรษฐกิจการเมืองของรัชกาลที่ 4 เลยขัดแย้งกับรัชกาลที่ 3 ทำให้ต้องออกบวชหนีราชภัย ไปจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายระดับสูง
สุนทรภู่ไม่ได้มีอาชีพเป็นกวี เพราะกวีในยุคนั้นยึดเป็นอาชีพไม่ได้ แต่สุนทรภู่มีอาชีพรับราชการ เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในราชสำนักรัชกาลที่ 2 มีฐานะทางสังคมสูงในระดับนักปราชญ์หรือศาสตราจารย์ประจำราชสำนัก เป็นที่ปรึกษาหรือองคมนตรี เป็นผู้ร่างเอกสารสำคัญของราชสำนัก ส่วนงานกวีนิพนธ์เป็นความสามารถส่วนตัวเหนือกวียุคเดียวกัน เลยแต่งวรรณคดีการเมืองต่อต้านการล่าอาณานิคมของยุโรป ชื่อ พระอภัยมณี
สุนทรภู่ ไม่ใช่อาลักษณ์ขี้เมา
สุนทรภู่เป็นกวีในราชสำนักรัชกาลที่ 2 ที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยกย่องเป็น "มหากวีกระฎุมพี" เป็น "อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว" และเป็นศาสตราจารย์นักปราชญ์ราชสำนัก "ปัญญาชน" ฝ่ายก้าวหน้า ที่ฝักใฝ่อยู่กับเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระนามเดิมของรัชกาลที่ 4) กับเจ้าฟ้าน้อย (พระนามเดิมของพระปิ่นเกล้าฯ) ทั้ง 2 พระองค์ ทรงเป็นราชโอรสของรัชกาลที่ 2 ที่มีสิทธิชอบธรรมในการสืบราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา
สุนทรภู่ออกบวชเมื่อ พ.ศ.2367 ขณะนั้นอายุ 38 ปี จึงไม่ใช่บวชตามประเพณีปกติ แต่เป็นที่รู้กันว่าบวชการเมืองหนีราชภัย เพราะบวชเมื่อรู้ว่ารัชกาลที่ 3 ได้เสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งต่างจากที่เคยคาดคะเนว่าราชสมบัติควรตกอยู่กับเจ้าฟ้ามงกุฎที่ตนฝักใฝ่เลื่อมใส แล้วถือตนว่าเป็นช่วงข้าใช้มาตลอด
การออกบวชของสุนทรภู่จึงไม่ใช่เรื่อง "ถูกถอด" จากตำแหน่ง เพราะสมญา "อาลักษณ์ขี้เมา" ที่มีผู้ตั้งให้ภายหลังอย่างเหลวไหล
กรณีแก้กลอนหน้าพระที่นั่งในรัชกาลที่ 2 ควรเป็นเรื่องความขัดแย้งทางความคิดการเมืองในราชสำนักครั้งนั้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย สุนทรภู่ถึงต้องหนีราชภัยไปบวช แต่ก็ไม่ได้ร่อนเร่ไร้เคหาอาศัย เพราะมี "เจ้านาย" ชั้นสูงคอยดูแลอุปถัมภ์ค้ำจุนไม่ขาดแคลนเลย
เมื่อบวชแล้วก็เป็นอันว่าแล้วกันไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯมิได้ทรง "รังแก" ให้สุนทรภู่เดือดร้อน ดังจะพบหลักฐานว่ารัชกาลที่ 3 เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้ 5 ปี ถึง พ.ศ.2372 ได้ทรงพระราชทานอนุญาตให้เจ้าฟ้าเล็กๆ 2 พระองค์ในวังหลวง คือ เจ้าฟ้ากลาง กับ เจ้าฟ้าปิ๋ว ไปมอบตัวเป็นศิษย์ให้สุนทรภู่สอนหนังสือ คราวนี้เองที่สุนทรภู่ขณะเป็นภิกษุ แต่งเพลงยาวถวายโอวาท มีความพาดพิงถึงเรื่องนี้ชัดเจนอย่างยิ่ง
จะเห็นว่านอกจากไม่ "รังแก" แล้ว รัชกาลที่ 3 ยังยกย่องให้ความสำคัญต่อความรู้ความสามารถด้วยซ้ำไป เพราะทรงรู้อยู่เต็มพระทัยว่าสุนทรภู่เป็น "ปราชญ์กวี" ที่ไม่มีใครในครั้งนั้นเทียบได้
จนอีก 10 ปีต่อมา เมื่อ พ.ศ.2382 ยังพระราชทานอนุญาตให้พระธิดาใหญ่องค์โปรด คือ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ทรงอุปถัมภ์อุปัฏฐากพระภิกษุสุนทรภู่ให้ไป จำพรรษาอยู่วัดเทพธิดารามที่รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระราชทานพระธิดาองค์นี้
ครั้งนี้เองที่สุนทรภู่แต่งพระอภัยมณีตามรับสั่ง แล้วมีผู้นิยมอ่านมากตั้งแต่ครั้งนั้น อันเป็นช่วงที่พระนางเจ้าวิคตอเรียเป็นราชินีเสด็จขึ้นครองราชย์อังกฤษ ซึ่งมีลังกาเป็นเมืองขึ้นแล้วเท่ากับเป็นกษัตริย์ลังกาไปพร้อมกัน
ฉะนั้น ที่กล่าวกันว่าสุนทรภู่เป็น "อาลักษณ์ขี้เมา" แต่แต่งหนังสือดีจึงไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะถ้า "ขี้เมา" จริงอย่างนั้นก็แต่งหนังสือดีไม่ได้ ถึงแต่งได้ก็ไม่มากเท่าที่มีอยู่ และยังมีต้นฉบับหายไป หาไม่พบอีกไม่น้อย ย่อมเป็นพยานในตัวเองว่าสุนทรภู่ไม่มีเวลาอย่างอื่น นอกจากแต่งหนังสือและศึกษาค้นคว้าแสวงหาความรู้ แล้วเรียนรู้เท่าทันโลก
มีวิชารู้เท่าทันโลกและชีวิต
เมื่อ พ.ศ.2385 สุนทรภู่อายุ 56 ปี ท่านเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ แล้วแต่งหนังสือเรื่อง "รำพันพิลาป" กล่าวถึงตัวเองว่าเป็นนักเดินทางท่องเที่ยว "ทางบกเรือเหนือใต้เที่ยวไปทั่ว จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน" แล้วเล่าว่าไปเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองพิษณุโลก รวมทั้งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ อีกหลายแห่ง ไม่พบหลักฐานว่าท่านเคยไปต่างประเทศ และเคยไปปักษ์ใต้ แต่จากร่องรอยต่างๆ ชวนให้เชื่อว่าสุนทรภู่เคยไปลังกา และพูดภาษาอังกฤษได้บ้าง
ด้วยวิญญาณ "นักเดินทางแสวงหาวิชาความรู้" ที่แท้จริง ท่านเลยคิด แล้ว "ฝัน" ว่า "จริงจริงนะจะไปอุ้มเนื้อนุ่มน่วม ลงนั่งร่วมเรือกลพยนต์ผยอง" ไปเที่ยวไกลถึงท้องทะเลและบ้านเมืองแถบอ่าวเบงกอลในมหาสมุทรอินเดีย ที่ศึกษาหา "ความรู้" ด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในยุคนั้น เช่น หนังสือเก่าและชาวต่างชาติ ฯลฯ ดังมี "รำพันพิลาป" ถึงสถานที่อันมีจริงในยุคนั้นไว้เช่น มะละกา, เกาะชวา, เบงกอล, ลังกา ฯลฯ
สุนทรภู่รู้สถานที่เหล่านี้มาจากไหน?
"ความรู้" เหล่านี้สุนทรภู่น่าจะได้จาก "ประสบการณ์" นอกระบบ คือสนทนาหาความรู้จากบรรดาประชาชาติต่างๆ และกะลาสีเรือที่เข้ามาค้าขายกับกรุงสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 รวมทั้งจากเอกสารต่างๆ
ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่มีลักษณะเศรษฐกิจเพื่อ "ตลาด" ทำให้อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักปราชญ์อิสระ ยกย่องสุนทรภู่เป็น "กระฎุมพี" ที่มีโลกกว้างขวางกว่ายุคก่อนๆ
สำนักวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จัดรายการแบ่งปันเผยแพร่ความร้สู่สาธารณะเรื่อง สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี เกิดวังหลัง ผู้ดีบางกอก มีวิชารู้เท่าทันโลก และชีวิต ในวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2551 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า กรุงเทพฯ แล้วนำออกเผยแพร่ทางโทรทัศน์ NBT วันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2551 เวลา 23.00-23.45 น.
By : chang
( IP : 58.137.94.xxx )
(Read 738 | Answer 0 2008-06-20 14:01:31 )
|
|
|
|
|
|
|
|
|